อาเซียนเร่งหารือแคนาดา เดินหน้าจัดทำขอบเขตการเจรจาเอฟทีเอระหว่างกัน เผยมีความคืบหน้ามาก คงเหลือประเด็นใหม่ แรงงาน สิ่งแวดล้อม รัฐวิสาหกิจ ที่ต้องเร่งหาทางออก ก่อนชงรัฐมนตรีเศรษฐกิจไฟเขียว ก.ย. ตั้งเป้าเปิดเจรจาได้ภายในปีนี้ แย้มการทำเอฟทีเอ ดันจีดีพี ทั้งไทย อาเซียนและแคนาดาเพิ่มขึ้น ส่วนการหารือกับสหรัฐฯ เน้นเชื่อมโยงระบบศุลกากร ช่วย MSMEs ค้าขายออนไลน์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-สหรัฐฯ (SEOM-AUSTR) ครั้งที่ 33 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา (SEOM-CANADA) ครั้งที่ 13 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา เพื่อหารือแผนงานความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ และเร่งหารือขอบเขตการจัดทำเอฟทีเอระหว่างอาเซียนและแคนาดา
นายดวงอาทิตย์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ มีความคืบหน้าการจัดทำขอบเขตการเจรจาเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา เป็นอย่างมาก คงเหลือประเด็นการค้าใหม่ ๆ เช่น แรงงาน สิ่งแวดล้อม รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่อาเซียนยังไม่เคยมีอยู่ในเอฟทีเอที่ผ่านมา โดยที่ประชุมจะเร่งหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว เพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ในเดือนก.ย.2564 และให้สามารถเปิดการเจรจาเอฟทีเอระหว่างกันได้ภายในปีนี้
ก่อนหน้านี้ สำนักเลขาธิการอาเซียนได้เคยศึกษาการทำเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา โดยพบว่า จะทำให้จีดีพีของไทยเพิ่มขึ้น 7,967 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 254,944 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1.97% และจีดีพีอาเซียนจะเพิ่มขึ้น 39,361 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,259,552 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1.6% ส่วนแคนาดา เพิ่มขึ้น 5,104 ล้านเหรียญสหรัฐ (163,328 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 0.3%
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้จัดการสัมมนา (Webinar Series) ผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาและรับฟังความเห็นเรื่องการจัดทำเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา ในวันที่ 22 และ 29 มิ.ย.2564 เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของไทยเรื่องการเปิดเจรจาจัดทำเอฟทีเออาเซียน-แคนาดาต่อไป
สำหรับผลการประชุมกับสหรัฐฯ อาเซียนได้ติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ภายใต้แผนงานความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ และยังได้หารือแผนงานความร่วมมือฉบับต่อไป (2564-2565) ซึ่งครอบคลุมระยะเวลา 1 ปี โดยมีกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เช่น การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน ไปยังสหรัฐฯ และประเทศคู่เจรจาอื่น การสร้างความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในอาเซียน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการใช้ระบบออนไลน์ประกอบธุรกิจในช่วงโควิด-19 รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนมีความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ได้มากขึ้น
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง