​“จับคู่กู้เงิน”ช่วยร้านอาหาร ยอดพุ่งกว่า 3,000 ราย วงเงิน 880 ล้าน ยื่นกับออมสินสูงสุด

img

“จุรินทร์”ติดตามความคืบหน้าโครงการ “จับคู่กู้เงิน” มียอดยื่นกู้เงินทั้งออฟไลน์และออนไลน์แล้วกว่า 3,000 ราย วงเงินกว่า 880 ล้านบาท ออมสินนำโด่ง เผยร้านอาหารที่สนใจสามารถไปติดต่อที่กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และสาขาของ 5 สถาบันการเงินที่ร่วมโครงการ มีเวลาถึง 20 มิ.ย.นี้ 
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการติดตามความคืบหน้าโครงการ “จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหาร” ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่า โครงการนี้ จัดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 7-20 มิ.ย.2564 เพื่อให้ร้านอาหารทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 120,000 ร้าน ที่จดทะเบียนบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ของสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่มาร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วยธนาคารออมสิน ธนาคาร SME D Bank ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี รวมทั้งเงื่อนไขผ่อนปรนอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือร้านอาหารให้สามารถต่อลมหายใจต่อไปได้ ภายใต้สถานการณ์ในช่วงวิกฤติโควิด-19

“กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดห้องให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร สามารถมาพบกับทั้ง 5 สถาบันการเงินได้ที่นี่โดยตรง รวมทั้งสามารถเดินทางไปที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ หรือไปที่สถาบันการเงินทั้ง 5 แห่งโดยตรงที่สำนักงานสาขาทั่วประเทศ เพื่อยื่นเรื่องขอกู้เงินตามโครงการจับคู่กู้เงินของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะได้รับการดูแลเรื่องการให้ข้อมูลเงื่อนไขและรับเรื่องขอกู้”



ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7-14 มิ.ย.2564 เป็นเวลา 7 วัน สถาบันการเงินต่าง ๆ ได้เปิดโอกาสให้ร้านอาหารขอกู้ได้ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยมีการยื่นขอสินเชื่อ ได้แก่ ธนาคารออมสิน มีผู้ยื่นขอกู้แล้วรวม 2,520 ราย วงเงินขอสินเชื่อรวม 750 ล้านบาท ธนาคาร SME D Bank มีผู้ยื่นขอกู้ 146 ราย วงเงินขอสินเชื่อรวม 64 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทยมีผู้ยื่นขอกู้ 98 ราย วงเงินขอสินเชื่อรวม 43 ล้านบาท ธ.ก.ส.ยื่นขอกู้ 49 ราย วงเงินขอสินเชื่อ 22 ล้านบาท ส่วน บสย.มีผู้ยื่นขอ 188 ราย โดยมีผู้ติดต่อขอสินเชื่อรวม 3,001 ราย วงเงินที่ขอสินเชื่อรวมกัน 880 ล้านบาท ส่วนสำหรับ บสย.ที่มีผู้ยื่นขอ 188 รายนั้น แจ้งว่ายินดีค้ำประกันให้ทุกรายที่ธนาคารปล่อยกู้ให้
         
อย่างไรก็ตาม ในบางจังหวัด ได้สั่งการให้มีการดำเนินการจัดสถานที่ขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ เช่นเดียวกับการจัดที่กระทรวงพาณิชย์ เช่น ที่จังหวัดภูเก็ต จากการไปตรวจราชการ ได้รับรายชื่อร้านอาหารรวม 300 กว่าราย ที่ประสงค์จะยื่นขอกู้ จึงสั่งการให้พาณิชย์จังหวัดภูเก็ตจัดสถานที่เป็นกรณีเฉพาะให้พบกับ 5 สถาบันการเงินสาขาที่นั่นโดยตรง และได้รับแจ้งว่าจะดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง