“สิงคโปร์-จีน” ให้สัตยาบัน RCEP แล้ว ไทยเร่งเครื่องสุดตัว คาดยื่นต.ค.นี้

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแจ้งความคืบหน้าการให้สัตยาบัน RCEP ล่าสุด สิงคโปร์และจีน ยื่นให้สัตยาบันแล้ว สมาชิกอื่นกำลังดำเนินกระบวนการภายใน ส่วนไทย 3 หน่วยงานกำลังออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง คาดแล้วเสร็จและยื่นให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้ภายในต.ค. ตั้งเป้ามีผลบังคับใช้ได้ทันภายในปีนี้ ย้ำไทยจะได้ประโยชน์ชัดเจน เหตุเกาหลี ญี่ปุ่น จีน เปิดตลาดเพิ่มเติมเพียบ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่สมาชิกความ ตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) 15 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ร่วมลงนามความตกลง RCEP ไปเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2563 ที่ผ่านมา ล่าสุด สิงคโปร์ และจีน ได้ยื่นให้สัตยาบันความตกลง RCEP ต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนแล้ว ส่วนประเทศสมาชิกที่เหลือ รวมทั้งไทย กำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลง

ทั้งนี้ เมื่อสมาชิกอาเซียนจำนวนอย่างน้อย 6 ประเทศ และสมาชิกนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันความตกลง RCEP ครบแล้ว ก็จะส่งผลให้ความตกลงมีผลใช้บังคับหลังจากนั้น 60 วันทันที ซึ่งสมาชิกได้ตั้งเป้าว่า จะต้องดำเนินการให้ทันภายในสิ้นปีนี้

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการของไทย หลังจากที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบผลการเจรจาความตกลง RCEP ไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2564 ขณะนี้ 3 หน่วยงานของไทยกำลังอยู่ระหว่างออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร อยู่ระหว่างออกประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราภาษีศุลกากรที่จะเก็บกับสมาชิก RCEP กรมการค้าต่างประเทศ อยู่ระหว่างปรับระบบการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างออกประกาศเรื่องเงื่อนไขการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้ความตกลง RCEP ซึ่งเมื่อทั้ง 3 หน่วยงานดำเนินการเสร็จแล้ว ไทยก็จะสามารถยื่นให้สัตยาบันต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนได้ทันที คาดว่าน่าจะภายในเดือนต.ค.2564



นางอรมนกล่าวว่า ประโยชน์ของความตกลง RCEP ที่มีต่อการส่งออกของไทย ที่เห็นได้ชัดเจน จะเป็นเรื่องที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการเพิ่มเติมจากที่เก็บกับไทยในปัจจุบัน และเพิ่มเติมจาก FTA ที่ไทยมีอยู่แล้วกับประเทศเหล่านี้ โดยเกาหลีใต้ จะลดภาษีศุลกากรให้กับผลไม้สดหรือแห้ง เช่น มังคุด ทุเรียน ผลไม้และลูกนัตอื่นๆ แช่แข็งของไทย จาก 8-45% เหลือ 0% ภายใน 10-15 ปี น้ำสับปะรด จาก 50% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี สินค้าประมง เช่น ปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง ปลา กุ้งแห้ง ใส่เกลือหรือแช่น้ำเกลือ จาก 10-35% เหลือ 0% ภายใน 15 ปี

ส่วนญี่ปุ่น จะลดภาษีศุลกากรให้ผักปรุงแต่ง เช่น มะเขือเทศ ถั่วบีน หน่อไม้ฝรั่ง ผงกระเทียม ของไทย จาก 9-17% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี สับปะรดแช่แข็ง จาก 23.8% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี กาแฟคั่ว จาก 12% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี และจีน จะลดภาษีศุลกากรให้สับปะรดปรุงแต่ง น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว ยางสังเคราะห์ ของไทย จาก 7.5-15% เหลือ 0% ภายใน 20 ปี ชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างหรือให้สัญญาณ ที่ปรับกระจกในรถยนต์ ลวดและเคเบิ้ลสำหรับชุดสายไฟที่ใช้ในรถยนต์ของไทย จาก 10% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี เป็นต้น 

นอกจากนี้ สมาชิก RCEP ยังได้เริ่มประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการกำกับดูแลและบังคับใช้ความตกลง RCEP ซึ่งครอบคลุมเรื่องสำคัญ เช่น กระบวนการเปิดรับสมาชิกใหม่ โครงสร้างสำนักงานเลขาธิการ RCEP และความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ได้อย่างเต็มที่  

ในปี 2563 ไทยมีมูลค่าการค้ากับสมาชิก RCEP ประมาณ 7.87 ล้านล้านบาท หรือ 57.5% ของการค้ารวมของไทย เป็นการส่งออกประมาณ 3.83 ล้านล้านบาท คิดเป็น 53.3% ของการส่งออกไทยไปโลก โดยมีอาเซียน จีน และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่เย็นและแช่แข็ง เป็นต้น


 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง