กรมทรัพย์สินทางปัญญาเผยได้ยื่นขึ้นทะเบียน GI สินค้าไทยใน 4 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย รวม 11 รายการ ทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา คาดได้รับการอนุมัติเร็วๆ นี้ หลังก่อนหน้า 5 ประเทศ ได้ขึ้นทะเบียนให้แล้ว 8 สินค้า ยันช่วยคุ้มครองไม่ให้ใครแอบอ้างเอาชื่อไปโปรโมตสินค้าตัวเอง เพิ่มมูลค่าให้สินค้า และดันเศรษฐกิจท้องถิ่นเข้มแข็ง
นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมฯ ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไทยในต่างประเทศรวม 4 ประเทศ จำนวน 11 สินค้า ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ที่จีน , กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และสับปะรดห้วยมุ่น ที่ญี่ปุ่น , มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ที่เวียดนาม และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ที่มาเลเซีย โดยทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา คาดว่า จะได้รับอนุมัติให้ขึ้นทะเบียน GI ได้ในเร็วๆ นี้
สำหรับสาเหตุที่ต้องขอขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ เป็นเพราะสินค้า GI เป็นสินค้าที่เกิดขึ้นโดยอาศัยความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ความมีเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของสินค้า ทำให้เป็นที่สนใจแก่ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องยื่นขอขึ้นทะเบียน เพื่อปกป้องและคุ้มครองชื่อสินค้าให้ยังคงเป็นสิทธิของชุมชนอยู่เช่นเดิม ไม่ให้ใครแอบอ้างเอาชื่อสินค้า GI ของไทยไปใช้ประชาสัมพันธ์สินค้าอื่นที่ไม่ใช่สินค้า GI ของไทย อีกทั้งยังช่วยทำให้สินค้า GI เป็นที่รู้จัก และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
ก่อนหน้านี้ กรมฯ ได้ยื่นขึ้นทะเบียน GI ของไทย ในต่างประเทศได้แล้ว 5 ประเทศ จำนวน 8 สินค้า ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ที่สหภาพยุโรป , เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ที่เวียดนาม , กาแฟดอยตุง ที่กัมพูชา , ผ้าไหมยกดอกลำพูน ที่อินโดนีเซีย และผ้าไหมยกดอกลำพูน ที่อินเดีย
นายประโยชน์กล่าวว่า สำหรับการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ในไทย ล่าสุด กรมฯ เพิ่งรับขึ้นทะเบียนเพิ่มอีก 2 รายการ คือ ข้าวหอมเจ๊กเชยชัยนาท และถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน ทำให้ขณะนี้ มีสินค้าจีไอไทยที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 136 รายการ จาก 76 จังหวัด ประกอบด้วยข้าว 16 รายการ , อาหาร 27 รายการ , ผัก ผลไม้ 65 รายการ , ผ้าไหม ผ้าฝ้าย 11 รายการ , หัตถกรรมและอุตสาหกรรม 15 รายการ และไวน์และสุรา 2 รายการ
โดยประโยชน์ของการขึ้นทะเบียน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองผู้ผลิต ป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพิ่มมูลค่าของสินค้า ช่วยกระจายรายได้สู่ชนบทและส่งเสริมอุตสาหกรรม และยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น
นอกจากนี้ กรมฯ ยังช่วยหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการสินค้า GI ไทย ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ เช่น จัดงานตลาดนัดสินค้า GI จัดงาน GI Market สนับสนุนให้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารทั้งในและต่างประเทศ , ช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า GI ไทยทั้งในและต่างประเทศ โดยการจัดทำสกู๊ปพร้อมเผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์ เพื่อสร้างการรับรู้ และเผยแพร่สินค้า GI ให้เป็นที่รู้จัก ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์แหล่งผลิตสินค้า GI และแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง 10 สินค้า เช่น ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม สมุทรสงคราม , มะพร้าวทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ , ส้มสีทองน่าน น่าน เป็นต้น และช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI ไทยให้ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นต้น
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง