กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยการค้าไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอไตรมาสแรกโต 10% คิดเป็นสัดส่วน 63.5% ของการค้าของไทยทั้งหมด เฉพาะการส่งออก สร้างรายได้เข้าประเทศเกือบ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แนะใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอสร้างความได้เปรียบให้สินค้า และนำเข้าวัตถุดิบราคาถูก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) พบว่า การค้ารวมของไทยกับประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) จำนวน 18 ประเทศ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 81,125 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% ถือว่ามีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าการค้าระหว่างไทยกับตลาดโลก โดยการค้ารวมกับตลาดโลก เพิ่มขึ้น 6% หรือคิดเป็นสัดส่วน 63.5% ของการค้าของไทยทั้งหมด
ทั้งนี้ เมื่อจำแนกรายประเทศ พบว่า การค้ารวมกับประเทศคู่เอฟทีเอส่วนใหญ่ขยายตัวเป็นที่น่าพอใจ เช่น จีน เพิ่ม 26% ญี่ปุ่น เพิ่ม 11% ออสเตรเลีย เพิ่ม 30% เกาหลีใต้ เพิ่ม 13% อินเดีย เพิ่ม 17% มาเลเซีย เพิ่ม 16% เวียดนาม เพิ่ม 14% ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 6% ลาว เพิ่ม 16% นิวซีแลนด์ เพิ่ม 12% ชิลี เพิ่ม 10% และเปรู เพิ่ม 12% เป็นต้น
ส่วนการส่งออกของไทยไป 18 ประเทศคู่เอฟทีเอ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 มีมูลค่า 39,249 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3% คิดเป็นสัดส่วน 61.2% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับตั้งแต่เดือนม.ค.2564 และมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าการส่งออกรวมไปตลาดโลก โดยการส่งออกไปตลาดโลก เพิ่มขึ้น 2%
สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ส่งออกมูลค่า 6,911 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 10% สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องเทศและสมุนไพร ผักสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ส่งออกมูลค่า 30,435 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2.7% สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และวงจรไฟฟ้า
“จากสถิติการค้าในช่วงไตรมาสแรก เห็นได้ว่าการค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะได้ปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ อีกทั้งสินค้าไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกสูง รวมทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาด จึงขอให้ผู้ประกอบการและภาคการผลิตของไทยรักษาคุณภาพและมาตรฐาน และอย่าลืมใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงการค้าเสรีที่ไทยมีกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ให้เต็มที่ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันให้กับสินค้าไทย ให้มีแต้มต่อทางภาษีในการส่งออก รวมทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบในราคาถูกลง ลดต้นทุนด้านวัตถุดิบได้ด้วย”นางอรมนกล่าว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง