​“พาณิชย์-เกษตร”เดินหน้าแพลตฟอร์มกลาง ช่วยเกษตรกรขายออนไลน์ ดีเดย์ซื้อขายมิ.ย.นี้

img

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือกรมส่งเสริมสหกรณ์เดินหน้าสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ช่วยเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เตรียมต่อยอดแพลตฟอร์มเดิม Thaitrade.com รองรับผู้ซื้อต่างประเทศ และ Phenixbox.com รองรับผู้ซื้อในประเทศ นำร่องกลุ่มสหกรณ์ 40 ราย จาก 25 จังหวัด ดีเดย์เริ่มซื้อขาย มิ.ย.นี้
         
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” กับนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องจัดทำแพลตฟอร์มกลางขึ้นมาใหม่ เพราะปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนดำเนินการแพลตฟอร์มแบบ B2B (Business-to-Business) และ B2C (Business-to-Consumer) อย่างแพร่หลาย สามารถที่จะใช้ผลักดันให้เกษตรกรเข้าไปจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้อยู่แล้ว
         
โดยการซื้อขายแบบ B2B จะพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มที่มีอยู่และดำเนินการได้ทันที คือ Thaitrade.com (ตลาดค้าส่งระดับโลกของไทย) ที่รองรับผู้ซื้อต่างประเทศ และ Phenixbox.com (ศูนย์ค้าส่งครบวงจรของเอกชน) ที่รองรับผู้ซื้อในประเทศ โดยจะมีการสร้างหน้าสินค้าเกษตรเฉพาะ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อทดสอบว่าการขายสินค้าเกษตรประสบผลสำเร็จหรือไม่อย่างไร และมีกลุ่มเกษตรกรนำร่องกลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มสหกรณ์ที่มีศักยภาพและมีความพร้อม 40 ราย จาก 25 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภูมิภาค ประกอบด้วยสินค้าที่หลากหลาก เช่น ข้าว ไข่ไก่ เนื้อโคขุน น้ำนม ผัก ผลไม้ กาแฟ และสินค้าแปรรูปจากยางพารา โดยจะเริ่มซื้อขายได้ประมาณเดือนมิ.ย.2564



นอกจากนี้ แพลตฟอร์มกลาง จะมีข้อมูลความต้องการซื้อสินค้าเกษตร (Demand) ที่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสินค้าในปริมาณมากในแต่ละครั้ง ต้องการสินค้าเกษตรเพื่อไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารหรืองานบริการ เช่น สมาคมการค้าต่างๆ โรงแรม ร้านอาหาร โรงงาน รวมถึงผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ ที่จะมีข้อมูลผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ และกำหนดให้สามารถซื้อ-ขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (Pre-order) เพื่อให้ผู้ที่มีอุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรได้พบกันและสามารถซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้ ผ่านระบบการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การเจรจาทางธุรกิจ (Biz Chat) และการยื่นคำขอเสนอซื้อขายสินค้า (Request) ซึ่งจะต้องมีการกำหนดคุณลักษณะ หมวดหมู่สินค้า และมาตรฐานสินค้าที่ต้องการ (Quality Control) ต่อไป
         
ส่วนการซื้อขายแบบ B2C เกษตรกรที่มีความพร้อมในการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ในลักษณะขายปลีก สามารถเลือกใช้บริการได้หลายแพลตฟอร์ม ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการสินค้าเกษตรในการเพิ่มช่องทางการค้าออนไลน์อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว  
         
ทั้งนี้ นอกจากการนำสินค้าเกษตรขายบนช่องทางออนไลน์แล้ว กรมฯ ยังมีแผนจะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) จากคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสขยายตลาดให้เกษตรกรไทยด้วย

ปัจจุบันข้อมูลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ปี 2562 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า กลุ่มธุรกิจ e-Commerce ของไทยมีอัตราการเติบโตที่น่าจับตามอง มีมูลค่าการเติบโตอยู่ที่ 3,767,045 ล้านบาท โดยธุรกิจประเภท B2C ไทยเติบโตครองแชมป์อันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งกลุ่ม B2B ของไทยยังคงครองแชมป์ e-Commerce ที่สามารถสร้างมูลค่าได้สูงสุดถึง 6 ปีซ้อน 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง