WTO เตรียมประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 12 เผยหนึ่งในไฮไลต์ห้ามกีดกันการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19

img

สมาชิก WTO เดินหน้าเตรียมการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 12 ช่วงปลายปีนี้ เผยประเด็นน่าสนใจ ตั้งแท่นห้ามกีดกันการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ขอไม่ให้มีการห้ามส่งออกวัคซีนและส่วนประกอบสำคัญของวัคซีน ป้องกันเป็นอุปสรรคการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก ระบุการประชุมครั้งนี้ ยังจะเป็นการพิสูจน์ความตั้งใจของสมาชิกในการพลิกฟื้นบทบาทของ WTO ด้วย

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ได้เริ่มเตรียมการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 12 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 พ.ย.–3 ธ.ค.2564 ที่นครเจนีวา อย่างเข้มข้นขึ้น โดยประเด็นหลักๆ ที่กำลังหารือกันเพื่อเสนอให้ที่ประชุมเห็นชอบ คือ การอุดหนุนประมง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กฎระเบียบภายในของภาคบริการ การปฏิรูปกระบวนการระงับข้อพิพาท การปฏิบัติเป็นพิเศษต่อประเทศพัฒนาน้อยที่สุด การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน สินค้าเกษตร เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ วัคซีน และการช่วยเร่งฟื้นคืนเศรษฐกิจโลก เป็นต้น โดยหลายเรื่องมีการหารือกันมาล่วงหน้า แต่คงยังต้องใช้เวลาในการเจรจากันต่อไปอีกระยะหนึ่ง
         
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือ การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนและสุขภาพ โดยผู้อำนวยการใหญ่ WTO มีภูมิหลังการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัคซีน จึงมีแนวคิดที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและประเทศที่ต้องการใช้วัคซีน โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ให้ตกลงกันเรื่องการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง บนเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายรับได้ และเห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย มีศักยภาพที่จะเป็นฐานการผลิตวัคซีนให้ประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันได้ จึงอยากให้มีการหารือเรื่องการลงทุนผลิตวัคซีนโดยบริษัทต่างๆ ด้วย



ทั้งนี้ มาตรการการห้ามส่งออกวัคซีนหรือส่วนประกอบสำคัญของวัคซีน เป็นส่วนหนึ่งที่ ผอ.ใหญ่ WTO เห็นว่าอาจเป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก จึงได้เรียกร้องให้ประเทศที่ออกมาตรการลักษณะนี้ออกมาให้ทบทวนใหม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าถึงวัคซีนได้รวดเร็ว อันจะนำไปสู่การฟื้นตัวของทุกประเทศได้เร็วขึ้น

นางพิมพ์ชนกกล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีการค้า WTO ครั้งนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ความตั้งใจของสมาชิก WTO ที่จะพลิกฟื้นบทบาทขององค์การและระบบกฎเกณฑ์แบบพหุภาคีให้เดินหน้าต่อไปได้ หลังจากที่ประสบปัญหาจากประเทศใหญ่บางประเทศ เช่น สหรัฐฯ ที่ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีนัก โดยขณะนี้ประธานาธิบดีไบเดนได้แต่งตั้งผู้แทนการค้าหรือ USTR คนใหม่ ซึ่งมีภูมิหลังการทำงานที่คุ้นเคยกับกฎเกณฑ์และกระบวนการของ WTO เป็นอย่างดีจึงน่าจะมีปฏิสัมพันธ์กับ WTO มากขึ้นไม่มากก็น้อย และการกลับมามีส่วนร่วมใน WTO ของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามต่อไป

นอกจากนี้ WTO ยังมีพัฒนาที่น่าสนใจในกระบวนการหารือบางเรื่องที่ใช้รูปแบบหลายฝ่าย แทนพหุภาคี โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในการเจรจาปัจจุบันหรือเป็นเรื่องสมัยใหม่ เช่น อี-คอมเมิร์ซ การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เป็นต้น เพราะบางประเทศมองว่า กฎเกณฑ์การค้าปัจจุบันของ WTO ที่ส่วนใหญ่เจรจาเสร็จในปี 2537 คือ รอบอุรุกวัย ไม่สามารถตามทันพัฒนาการทางเศรษฐกิจการค้าใหม่ๆ ได้ทั้งด้านเทคโนโลยี รูปแบบการทำธุรกิจสมัยใหม่ วิธีการบริโภค การทำงานหลังจากโควิด-19 ผ่านไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าการค้าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

โดย WTO ได้เริ่มมีการหารือแบบมุ้งเล็ก เพื่อให้มีเวทีถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในเรื่องที่ประเทศส่วนใหญ่อาจยังไม่พร้อมเจรจา แต่ก็ไม่อยากให้ WTO ตกขบวนการค้าโลกที่กำลังเคลื่อนไปสู่ยุคใหม่ โดยแนวทางการหารือแบบนี้อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้มีการอัพเดตกฎเกณฑ์บางเรื่องก็เป็นได้ ซึ่งประเทศไทยจะพิจารณาการเข้าร่วมหารือโดยพิจารณาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักดังที่ปฏิบัติมาโดยตลอด

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง