​อาเซียนเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 เพิ่มบัญชีสินค้าจำเป็น ห้ามสมาชิกใช้มาตรการกีดกัน

img

อาเซียนเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 เร่งเพิ่มบัญชีสินค้าจำเป็น เน้น “ข้าว เกษตร อาหาร” ต้องไม่มีมาตรการกีดกัน หวังช่วยให้เกิดการไหลเวียนของสินค้าได้สะดวกขึ้น ไทยสบช่องเพิ่มรายการข้าว อาหาร เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ เหตุเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ  
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาชิกอาเซียนกำลังอยู่ระหว่างการขยายบัญชีสินค้าจำเป็นเพิ่มเติมจากยาและเวชภัณฑ์ ที่เคยมีมติให้สมาชิกลดอุปสรรคการค้า และงดใช้มาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อไม่ให้มีข้อจำกัดด้านการไหลเวียนของสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในช่วงโควิด-19 และล่าสุดยังเห็นตรงกันว่าควรจะมีการเพิ่มรายการสินค้าจำเป็นให้เพิ่มมากขึ้น เพราะขณะนี้อาเซียนกำลังอยู่ระหว่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 หากการค้าสินค้าจำเป็นมีอุปสรรค ก็จะกระทบต่อการบริโภคและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ   
         
สำหรับสินค้าเป้าหมายที่อาเซียนได้หารือกันว่าควรจะเพิ่มเข้ามาในรายการสินค้าจำเป็น เช่น ข้าว สินค้าเกษตร และอาหาร เพราะสินค้ากลุ่มนี้ มีความจำเป็นสำหรับชีวิตความเป็นอยู่ ถ้าหากมีอุปสรรคในการค้าขาย ก็ไม่เป็นผลดีต่ออาเซียน ซึ่งสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศกำลังคัดเลือกรายการกันอยู่ว่าใครสนใจสินค้ารายการใด ส่วนไทยก็มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าควรจะเพิ่มรายการสินค้า ข้าว อาหาร เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ เป็นต้น เพราะเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย และไทยมีศักยภาพในการผลิต หากไม่มีอุปสรรคหรือข้อกีดกัน ก็จะทำให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น
         
นางอรมนกล่าวว่า สำหรับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 อื่นๆ อาเซียนเห็นตรงกันที่จะต้องเร่งฟื้นฟูด้านสาธารณสุข เช่น การตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของทรัพยากรมนุษย์ เช่น การพัฒนาหลักสูตรอาชีวะ เพื่อรองรับตลาดแรงงาน หลังการระบาดของโควิด-19 การเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต ลดอุปสรรคการค้า อำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง และการผลักดันระบบ ASEAN Single Window – ASW ที่จะต้องทำได้ทุกด่าน ทุกท่าเรือ เพื่อให้การค้ามีความสะดวกมากขึ้น การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ที่ทำมาแล้ว ต้องเดินต่อ การขับเคลื่อนการค้าดิจิทัล ที่จะต้องมีมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถค้าขายออนไลน์ และในด้านความมั่นคง ต้องเดินหน้าพลังงานยั่งยืน โลกสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน
         


นอกจากนี้ อาเซียนจะต้องเร่งรัดให้ทุกประเทศเร่งกระบวนการภายในประเทศ เพื่อให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยไทยเสนอให้ประเทศสมาชิกกำหนดวันการมีผลบังคับใช้ให้ชัดเจน คือ วันที่ 1 ม.ค.2565 เพื่อที่ทุกประเทศจะได้มีเป้าหมายการดำเนินการภายใน และในส่วนของไทย รัฐสภาได้ให้การรับรองแล้ว ถือเป็นประเทศแรก และอยู่ระหว่างการเตรียมการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลง
         
ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อเดือนมี.ค.2564 ได้ประชุมผ่านทางไกล และมีมติเห็นชอบข้อเสนอด้านเศรษฐกิจ 3 ด้านที่บรูไน ในฐานะประธานอาเซียนเสนอ ได้แก่ 1.ด้านการฟื้นฟู เช่น การจัดทำเครื่องมือในการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ของประเทศสมาชิกอาเซียน การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการประกาศเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา 2.ด้านการเป็นดิจิทัล เช่น การจัดทำแผนงานเพื่อดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ปี 2564–2568 และ 3.ด้านความยั่งยืน เช่น การจัดทำกรอบการส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย สหกรณ์ และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของอาเซียน ในด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ การจัดทำกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความยั่งยืนของภูมิภาคภายหลังการระบาดของโควิด-19
         
ขณะเดียวกัน ได้มีมติให้เร่งขยายความร่วมมือ เพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีอยู่เดิม เช่น การเจรจาทบทวนความตกลงการค้าสินค้า ระหว่างอาเซียน-อินเดีย การอัพเกรด FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อาเซียน-จีน และอาเซียน-เกาหลี เป็นต้น การเปิดเจรจา FTA ใหม่ เช่น อาเซียน-แคนาดา และการพิจารณาเรื่องการสมัครเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต
         
ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 94,838.07 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 55,469.59 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 39,368.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง