​ถก FTA ไทย-ตุรกี รอบ 7 คืบ สรุปได้อีก 2 เรื่อง “ความโปร่งใส-การระงับข้อพิพาท”

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยผลการเจรจา FTA ไทย-ตุรกี รอบที่ 7 สามารถสรุปได้อีก 2 เรื่อง “ความโปร่งใส และการระงับข้อพิพาท” ทำให้ภาพรวมสรุปได้แล้ว 4 เรื่อง จากทั้งหมด 14 เรื่อง ตั้งเป้าลุยต่อเพื่อให้ได้ข้อสรุปเพิ่มเติมในการประชุมรอบหน้า ระบุยังได้ขอให้ทั้งสองฝ่ายปรับปรุงการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมให้สมดุล เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการ
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย–ตุรกี รอบที่ 7 ผ่านระบบทางไกล ร่วมกับนางบาฮาร์ กึซลือ รองอธิบดีกรมความตกลงระหว่างประเทศและกิจการสหภาพยุโรปของตุรกี ระหว่างวันที่ 29 มี.ค.–2 เม.ย.2564 ว่า การเจรจารอบนี้ มีการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างหัวหน้าคณะเจรจาของสองประเทศ และการประชุมระดับเทคนิคของคณะทำงาน 6 คณะ ได้แก่ คณะทำงานด้านการค้าสินค้า การเยียวยาทางการค้า กฎระเบียบทางเทคนิค มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช กฎหมาย และทรัพย์สินทางปัญญา โดยการเจรจารอบนี้ สามารถสรุปผลการยกร่างความตกลง FTA เพิ่มอีก 2 เรื่อง คือ บทว่าด้วยความโปร่งใส และบทเรื่องการระงับข้อพิพาท ทำให้สามารถสรุปความตกลงได้ถึง 4 เรื่อง จากทั้งหมด 14 เรื่อง  

สำหรับเรื่องที่ยังไม่สามารถสรุปได้ เช่น บทว่าด้วยมาตรการเยียวยาทางการค้า บทว่าด้วยมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า และบทว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช โดยตั้งเป้าหาข้อสรุปให้ได้ในการเจรจารอบหน้า ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เพื่อมุ่งปิดดีลการเจรจาในปี 2565
         


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อข้อเสนอการเปิดตลาด โดยเฉพาะรายการสินค้าที่จะลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรระหว่างกัน และเห็นว่าผลการเจรจาจะต้องเกิดประโยชน์ต่อภาคการผลิตและผู้ประกอบธุรกิจอย่างแท้จริง และมีความสมดุลระหว่างระดับการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะปรับปรุงรายการสินค้าที่จะเปิดตลาด เพื่อแลกเปลี่ยนข้อเสนอกันอีกครั้ง ปลายเดือนเม.ย.2564
         
ขณะเดียวกัน ได้กำหนดจัดการประชุมทางไกลของคณะทำงานด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ระหว่างเดือนเม.ย.-ก.ค.2564 เนื่องจากการเจรจารอบนี้ ยังไม่ได้มีการประชุมของคณะทำงานชุดนี้ เพื่อให้การทำงานของคณะทำงานชุดต่างๆ คืบหน้า ก่อนจะมีการประชุมเจรจาในรอบที่ 8 
         
ทั้งนี้ ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยในปี 2563 การค้าระหว่างไทยและตุรกี มีมูลค่า 1,339 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกไปตุรกี มูลค่า 952 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากตุรกี มูลค่า 388 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศ และเม็ดพลาสติก และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์พืช เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องประดับอัญมณี

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง