“จุรินทร์”กางผลประโยชน์ไทยใน RCEP เผยสินค้ากว่า 2.9 หมื่นรายการ จะลดภาษีทันที 0% ตั้งแต่ 1 ม.ค.65 แถมได้สิทธิ์เข้าไปลงทุนถือหุ้นได้ 70-80% พร้อมเปิด RCEP Center ให้ข้อมูลผู้ประกอบการเตรียมตัวใช้ประโยชน์ ระบุไทยกำลังดำเนินการภายใน คาดความตกลงจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ หลังสมาชิก 9 ประเทศให้สัตยาบัน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “เปิดตัวศูนย์อาร์เซ็บ (RCEP Center)” ณ RCEP Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับนายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ว่า กระทรวงพาณิชย์จะประสานงานกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการเกษตร เร่งรัดในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ส่งออก เอสเอ็มอี ภาคการเกษตร รับทราบข้อมูลและเนื้อหาสำคัญในข้อตกลง ให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงได้อย่างเต็มที่ เพราะหาก RCEP บังคับใช้ จะเกิดประโยชน์กับไทยเป็นอย่างมากทั้งในด้านการค้า การลงทุน
ทั้งนี้ ในด้านการค้า หัวใจสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ในภาพของสินค้า โดยมีสินค้า 40,000 รายการโดยประมาณที่ต้องลดภาษีให้กับประเทศไทย และใน 40,000 รายการนั้น มี 29,000 รายการที่จะลดภาษีทันทีเหลือ 0% ในวันที่ 1 ม.ค.2565 ส่วนที่เหลือประมาณ 9,000 รายการ จะลดภายใน 10-20 ปี ให้อัตราภาษีเป็น 0% ตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ สำหรับภาคบริการ ไทยจะได้รับสิทธิพิเศษสามารถเข้าไปถือหุ้นได้ถึง 70-80% ในสาขาบริการ การก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นการขยายโอกาสให้กับนักลงทุนไทย
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการให้สัตยาบันความตกลง RCEP มีขั้นตอนการดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1.ต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งได้นำเสนอเข้าที่ประชุมร่วมและได้รับความเห็นชอบแล้ว และ 2.ดำเนินกระบวนการภายในของหน่วยงานราชการต่างๆ อย่างน้อย 3 หน่วยงาน คือ 1.กรมการค้าต่างประเทศ ออกแบบใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ให้จบ และประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน 2.กรมศุลกากรต้องประกาศอัตราภาษีให้สอดคล้องกับข้อตกลง และ 3.กระทรวงอุตสาหกรรมต้องออกประกาศเรื่องการนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ตามข้อตกลง RCEP
“เมื่อผ่านทั้ง 3 เงื่อนไขแล้ว กระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงต่างประเทศ จะประสานงานการยื่นเรื่องให้สัตยาบันไปยังเลขาธิการอาเซียน ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการ RCEP ด้วย ก็ถือว่าจบการในขั้นตอนการให้สัตยาบันของไทย ส่วนการจะมีผลบังคับใช้ กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ต้องให้สัตยาบันอย่างน้อย 6 ประเทศ และนอกประเทศอาเซียน 5 ประเทศ ต้องมีไม่น้อยกว่า 3 ประเทศ เท่ากับ 6 บวก 3 เป็น 9 ประเทศ ถึงจะถือว่ามีการให้สัตยาบัน RCEP และบังคับใช้ได้ต่อไป โดยตามเป้าน่าจะเป็นสิ้นปี 2564 แต่ก็ต้องขึ้นกับอีก 8 ประเทศจะให้สัตยาบันครบหรือไม่”นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้เปิด RCEP Center หรือศูนย์ให้บริการข้อมูล RCEP มีการให้บริการ 6 เรื่อง ได้แก่ 1.รายละเอียดความตกลง 2.สถิติการค้าระหว่างประเทศ 3.อัตราภาษี 4.ถิ่นกำเนิดสินค้า 5.มาตรการการค้าของไทย และ 6.ระบบติดตามเฝ้าระวัง เพื่อให้ผู้ประกอบการของไทย ได้เตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์จาก RCEP ซึ่งจะให้บริการทั้งแบบออฟไลน์ ที่จะเข้ามาขอรับบริการได้ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และแบบออนไลน์ เข้าดูได้ที่เว็บไซต์ www.moc.go.th
สำหรับความตกลง RCEP ได้มีการเจรจามาตลอด 8 ปี และประสบความสำเร็จในปี 2562 เมื่อไทยเป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียน และตนได้มีโอกาสเป็นประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจในการเจรจาจนบรรลุข้อตกลงครบถ้วนจากที่ค้างคากว่า 13 ข้อบท จาก 20 ข้อบท นำมาสู่การลงนามร่วมกัน 15 ประเทศเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2563 ทำให้ RCEP เป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจีดีพีรวมกันถึง 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก มีประชากรรวมกัน 1 ใน 3 ของโลก หรือ 2.2 พันล้านคน โดยมูลค่าการค้าของไทยที่ค้าขายกับประเทศ RCEP อีก 14 ประเทศ คิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ มีตัวเลขการค้า 8.5 ล้านล้านบาท
โดยประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ มีทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ โดยสินค้าที่จะได้ประโยชน์ สินค้าเกษตร เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ประมง ผักผลไม้ อาหารทั้งแช่แข็งและแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ากระดาษ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย ส่วนประกอบจักรยานยนต์ และภาคบริการ เช่น การก่อสร้างซึ่งไทยมีศักยภาพ ด้านบริการสุขภาพ ภาพยนตร์ บันเทิง แอนิเมชันที่เรียกว่าดิจิทัลคอนเทนต์ รวมทั้งภาคการค้าปลีก
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง