ไทย-ปากีสถาน จัดประชุมนัดพิเศษผ่านทางไกล กำหนดแผนการเจรจาเอฟทีเอของปี 64 เดินหน้าสรุปประเด็นคงค้างที่มีอยู่ ทั้งการเปิดตลาด กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา ได้ร่วมประชุมกับนายเนามัน อัสลาม รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ของปากีสถาน ผ่านระบบทางไกล ซึ่งจัดขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อติดตามสถานะการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ปากีสถาน ที่ค้างอยู่ ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดแผนการเจรจาเอฟทีเอไทย-ปากีสถาน ในปี 2564 โดยให้จัดประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อย ในช่วงเดือน พ.ค.-ธ.ค.2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเร่งเจรจาประเด็นคงค้าง โดยเฉพาะเรื่องการเปิดตลาด กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย ให้มีความคืบหน้าและหาข้อสรุปได้โดยเร็วที่สุด แม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ ปากีสถานเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจ เป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 200 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยประชากรกว่า 30 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทย จึงถือเป็นตลาดศักยภาพของไทย
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับจีนภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจ จีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor: CPEC) เช่น ถนน ทางยกระดับ ท่าเรือน้ำลึก และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะเป็นประตูการค้าสำคัญของไทยสู่เอเชียกลางได้
ในปี 2563 ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับ 39 ของไทย และอันดับ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย การค้าระหว่างไทย-ปากีสถาน มีมูลค่า 1,108 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปปากีสถานมูลค่า 980.44 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่มีศักยภาพ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ เม็ดพลาสติก เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เป็นต้น และไทยนำเข้าจากปากีสถานมูลค่า 127.56 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่น้ำอัดลม และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เป็นต้น
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง