​“พาณิชย์”หนุนไทยใช้โมเดลอีคอมเมิร์ซจีน เพิ่มโอกาสค้าขาย เร่งการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

img

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยผลศึกษาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังโควิด-19 พบอีคอมเมิร์ซมีส่วนช่วยสำคัญในการผลักดันการเติบโต ระบุมี 5 ธุรกิจออนไลน์ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แนะไทยใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนา เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
         
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ทำการศึกษาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังวิกฤตโควิด-19 หลังจากที่จีนเป็นประเทศแรกๆ ของโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ทำให้การเดินทาง ธุรกิจท่องเที่ยว การขนส่ง การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการบริโภคถูกกระทบ แต่หลังจากนั้น พบว่า เศรษฐกิจจีนได้มีการฟื้นตัวขึ้นหลังจากปลดล็อกดาวน์ โดยปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวมาจากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นส่วนสำคัญ โดยผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซของจีน เช่น Alibaba , JD.com และ Tencent ได้มีส่วนช่วยโดยได้จัดทำโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทั้งภาคการค้า การผลิต และยังมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในชนบท ทำให้เศรษฐกิจของจีนกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น
         
สำหรับตัวอย่างโครงการที่ Alibaba นำมาใช้ เช่น การช่วยเหลือ SMEs ที่เน้นการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ผ่าน AliExpress , Lazada และ Tmall World , สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มด้านการผลิตของแต่ละสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการจดจำสินค้า , การนำดิจิทัลมาใช้เพื่อช่วยให้ภาคการเกษตรเติบโต ก่อตั้งวิทยาลัยไลฟ์สตรีมมิ่งระดับหมู่บ้าน เพื่อสร้างทีมเกษตรกรนักไลฟ์สตรีมมิ่ง หรือไลฟ์สด และสร้างพนักงานจัดส่ง , ช่วยบรรเทาด้านการเงินให้กับ SMEs ด้วยการให้สินเชื่อ ยกเว้นค่าบริการบนแพลตฟอร์ม ลดเก็บค่าซัปพลายเชนและโลจิสติกส์ รวมทั้งจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติเชิงดิจิทัลให้ผู้ประกอบการได้นำไปปรับใช้ในช่วงโควิด-19
         


นายสมเด็จกล่าวว่า เทรนด์อีคอมเมิร์ซของจีนจากนี้ไป มีธุรกิจออนไลน์ 5 ประเภท ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการระบาดของโควิด-19 ได้แก่ การศึกษาออนไลน์ โดยพบว่าในช่วงการระบาดมีการเรียนการสอนผ่านออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น และประเมินว่าหลังสถานการณ์คลี่คลาย การใช้งานจะลดลง แต่ก็สร้างการรับรู้เรื่องการเรียนออนไลน์ได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดผู้สอนออนไลน์เพิ่มขึ้น , ธุรกิจจัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เติบโตตามการซื้อขายออนไลน์ , ธุรกิจระบบทำงานออนไลน์ ที่ตอบสนองการทำงานที่บ้าน , ธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรม 5G เพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และธุรกิจแอปพลิเคชัน ที่มีฟังก์ชันครอบคลุมทุกบริการรอบด้านไว้ในหนึ่งเดียว เช่น WeChat ที่มีทั้งแชต เกม ช้อปปิ้ง ชำระเงินออนไลน์ ไปจนถึงการลงทุน ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นเทรนด์ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ต้องจับตาในจีน
         
นอกจากนี้ ยังพบแนวโน้มการเติบโตของระบบ C2M หรือ Consumer to Manufacturer ซึ่งเป็นระบบการผลิตแบบใหม่ หรือ New Manufacturing โดยหัวใจสำคัญของโมเดลนี้ คือ “ข้อมูล” เพราะความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มองหาสินค้าเฉพาะบุคคลมากกว่าสินค้าที่ผลิตทีละมากๆ ซึ่ง New Manufacturing จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าได้ยืดหยุ่นตามความต้องการซื้อได้แบบเรียลไทม์ โดยใช้เทคโนโลยีและระบบจัดการอัจฉริยะ (AI) ในการขับเคลื่อน ทำให้ผู้ผลิตสามารถทำกำไร และบริหารจัดการจำนวนสินค้าคงคลังได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลของผู้บริโภคได้
         
“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังโควิด-19 เป็นผลมาจากการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การร่วมมือร่วมใจของภาครัฐและเอกชนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยภาคเอกชนรายสำคัญ ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ผู้ค้ารายย่อย ทำให้เศรษฐกิจจีนมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของไทย สามารถที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของจีน และนำมาปรับใช้เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า และช่วยผลักดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ ในการขยายตลาดทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ซึ่งกรมฯ พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างเต็มที่”นายสมเด็จกล่าว

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง