​กรมเจรจาฯ หนุน “อาหารทะเล-ผ้าทอจวนตานี-ปลาสลิดดอนนา” ใช้ FTA เจาะตลาดอาเซียน

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศลงพื้นที่ แนะผู้ผลิตสินค้า “อาหารทะเลแปรรูป-ผ้าทอจวนตานี-และปลาสลิดดอนนา” ในจังหวัดปัตตานี เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยกระดับสินค้าชุมชน และใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายตลาดส่งออกไปยังอาเซียน ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน
         
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการลงพื้นที่พบปะหารือกับผู้ประกอบการในจังหวัดปัตตานี ในกลุ่มสินค้าอาหารทะเลแปรรูปตรา "มาเรียม” ผ้าทอ “จวนตานี” และปลาสลิดดอนนา ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดปัตตานี ระหว่างวันที่ 8-9 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา ว่า ได้ทราบถึงความสามารถในการผลิตสินค้าท้องถิ่นที่มีศักยภาพ โดยกรมฯ ได้ให้ข้อมูลและองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศ การจัดทำแผนธุรกิจ การตลาด และด้านบุคลากร พร้อมทั้งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งใช้ความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์และความใกล้ชิดกับอาเซียน เจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน ซึ่งมั่นใจว่าจะมีโอกาสขยายตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ควบคู่ไปด้วย เพื่อเพิ่มแต้มต่อทางการค้า และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทย
         
สำหรับอาหารทะเลแปรรูป ได้หารือกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านประมงพื้นบ้านบูดี อ.ยะหริ่ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูป ตรา “มาเรียม” ผลิตสินค้าหลากหลาย เช่น กรือโป๊ะ (ข้าวเกรียบปลา) ปลาทุบปรุงรส ปลาหวาน และทองม้วนไส้ปลา มีมาตรฐานรับรองสินค้า และมีบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย ปัจจุบันวางจำหน่ายที่ห้างค้าปลีกในพื้นที่ภาคใต้ เช่น Big C , Max Value และส่งออกไปมาเลเซีย โดยเริ่มเจาะตลาดต่างประเทศจากงาน THAIFEX ติดต่อกัน 5 ปี
         


ส่วนผ้าทอ “จวนตานี” ได้หารือกับกลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าบ้านตรัง ซึ่งเป็นแหล่งทอผ้าจวนตานี หรือผ้าลีมา ซึ่งมีลวดลายโบราณ มีการทอลายที่มีเอกลักษณ์พิเศษ ปัจจุบันได้รับการส่งเสริมเรื่องลวดลายผ้าจาก ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานี ขณะนี้อยู่ระหว่างเพิ่มช่องทางจำหน่าย และศึกษาข้อมูล เพื่อยื่นขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)
         
ขณะที่สินค้าปลาสลิดดอนนา ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มเลี้ยงปลาสลิดดอนนา ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาท้องถิ่นในจังหวัดปัตตานี สามารถเติบโตได้ในน้ำเปรี้ยว มีไขมันต่ำ เนื้อแน่น และรสชาติดี ซึ่งมีการแปรรูปเป็นปลาสลิดแดดเดียว และน้ำพริกปลาสลิด โดยสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 7 ตัน แต่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงปีละ 2 ตัน และยังได้รับการผลักดันให้เป็นสินค้าเศรษฐกิจของจังหวัด ปัจจุบันมีสมาชิก 32 คน มีการแบ่งกลุ่มการทำงาน ทั้งการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง แปรรูปและจำหน่าย ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับสมาชิกตลอดทั้งปี
         
ทั้งนี้ การลงพื้นที่ดังกล่าว เป็นการดำเนินการภายใต้โครงการ “สร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทย และใช้ประโยชน์จาก FTA ในการขยายการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ




ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง