​อานิสงค์รัฐบาลลดค่า“ไฟฟ้า-ประปา” สินค้าอาหารสดลง ฉุดเงินเฟ้อก.พ.64 ลบ 1.17%

img

เงินเฟ้อก.พ.64 ลดลง 1.17% ลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน แต่ไม่น่ากังวล เหตุได้รับผลดีจากมาตรการรัฐบาล ลดค่า “ไฟฟ้า-ประปา” 2 เดือน แถมสินค้ากลุ่มอาหารสดปรับตัวลดลง สินค้าอื่นๆ ทรงตัว คาดมี.ค.ยังลดอีก เหตุยังลดค่าไฟ ค่าน้ำอยู่ แต่จะเริ่มขยับขึ้นตั้งแต่เม.ย.เป็นต้นไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อประชาชน  
         
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนก.พ.2564 ลดลง 0.91% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2564 และลดลง 1.17% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2563 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่มี.ค.2563 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานออก เทียบกับม.ค.2564 ลดลง 0.08% เทียบกับก.พ.2563 เพิ่มขึ้น 0.04% ขณะที่เงินเฟ้อรวม 2 เดือนปี 2564 (ม.ค.-ก.พ.) ลดลง 0.75% และเงินเฟ้อพื้นฐานรวม 2 เดือน เพิ่มขึ้น 0.12%
         
ทั้งนี้ การหดตัวของเงินเฟ้อในเดือนก.พ.2564 ไม่น่ากังวล เพราะเป็นการลดลงจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นระยะเวลา 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.2564) และยังได้ผลดีจากสินค้าในกลุ่มอาหารสด เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักสด ที่ลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่ทรงตัวและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการผลิตและความต้องการบริโภค ยกเว้นน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก
         
“เงินเฟ้อเดือนก.พ.2564 ที่ปรับตัวลดลงถึง 1.17% ถ้าไม่มีปัจจัยอะไรเลย ก็ถือว่าติดลบสูง แต่พอดูลึกเข้าไปพบว่าได้รับผลดีจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ประปา ที่เป็นตัวฉุดเงินเฟ้อลงมามาก และเดือนมี.ค.2564 เงินเฟ้อก็จะยังลดลงอีก เพราะมาตรการลดค่าไฟฟ้า ประปายังมีอยู่ แต่จะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเม.ย.2564 เป็นต้นไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของประชาชน โดยจะค่อยๆ ทยอยขึ้น”นายภูสิตกล่าว
         


สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อเดือนก.พ.2564 ที่ลดลง 1.17% มาจากการลดลงของสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 1.60% โดยหมวดเคหสถานลด 4.98% เช่น ค่าไฟฟ้า ประปา ก๊าซหุงต้ม หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลด 0.22% เช่น เสื้อยืดสตรี บุรุษ หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา ลด 0.12% เช่น เครื่องถวายพระ ค่าห้องพักโรงแรม หมวดการรักษาและบริการส่วนบุคคล ลด 0.04% เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สบู่ ผ้าอนามัย แต่หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร เพิ่ม 0.98% จากการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าโดยสารสาธารณะ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.03% เช่น สุรา เบียร์
         
ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลด 0.43% ได้แก่ ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 5.93% ผักสด ลด 3.53% เช่น คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาว ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลด 0.34% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลด 0.30% เช่น น้ำดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม แต่กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่ม1.02% เช่น เนื้อสุกร ปลาหมึกกล้วย ปลาทับทิม ผลไม้สด เพิ่ม 0.78% เช่น กล้วยน้ำว้า องุ่น ฝรั่ง เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 3.35% เช่น น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม ซีอิ้ว อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน เพิ่ม 0.32% และ 0.54% เช่น ข้าวสำเร็จรูป อาหารโทรสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง อาหารเช้า ไก่ทอด พิซซ่า
         
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อในปี 2564 สนค.ยังคงประเมินว่าจะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7-1.7% มีค่ากลางอยู่ที่เพิ่ม 1.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 3.5-4.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง