
“พาณิชย์”เผยยอดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 11 เดือนปี 63 มีมูลค่า 17,548.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.24% แต่หักทองคำ การส่งออกที่แท้จริงมีมูลค่า 4,395.91 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 42.26% เหตุได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ความต้องการลดลง ลุ้นหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีน กระตุ้นการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่ม
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วง 11 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 17,548.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.24% และเป็นเงินบาทมีมูลค่า 547,214 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.79% โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 2 คิดเป็นสัดส่วน 8.30% ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย รองจากการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ แต่เมื่อหักทองคำ ซึ่งมีความผันผวนออก การส่งออกที่แท้จริงมีมูลค่า 4,395.91 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 42.26% เป็นเงินบาท 135,971.52 ล้านบาท ลดลง 42.43% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 7,454.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 34.91% เป็นเงินบาทมูลค่า 233,774.06 ล้านบาท ลดลง 35.06%
ทั้งนี้ หากดูเฉพาะเดือนพ.ย.2563 การส่งออกเมื่อเทียบกับต.ค.2563 มีมูลค่า 671.40 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.73% และหากหักทองคำออก มีมูลค่า 510.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.75% และการนำเข้ามีมูลค่า 1,818.60 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 211% โดยเป็นการนำเข้าทองคำสูงถึง 1,471.94 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 485.77% ที่เหลือเป็นการนำเข้าเพชร เครื่องประดับแท้ โลหะเงิน และพลอยสี
“ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการระบาดระลอกใหม่ปลายปี 2563 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทั้งไทยและต่างประเทศ และส่งผลทำให้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับลดลง แต่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในอนาคต ที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น ได้มอบให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เร่งสร้างมาตรฐานอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อตอบโจทย์การค้าในปัจจุบัน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า”นายวีรศักดิ์กล่าว
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการจีไอที กล่าวว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ลดลง ปัจจัยหลักยังคงเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกลับมาระบาดอย่างหนักในหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย แม้ว่าการส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และเติบโตสูงมากในเดือนต.ค.2563 ที่ผ่านมา แต่หลายตลาดยังคงมีทิศทางผันผวนจากผลกระทบดังกล่าว มีเพียงตลาดที่สำคัญอย่างอินเดีย ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตและภาคบริการล้วนปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการที่ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นรับช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงสิ้นปี
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเนื่องจากปี 2563 ยังคงเป็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรงในรอบสอง ทำให้ประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ต้องนำมาตรการล็อคดาวน์ประเทศกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจล่าช้าออกไปอีก รวมทั้งทิศทางของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าไทยสูญเสียโอกาสในการแข่งขันได้ แต่ก็มีปัจจัยบวกจากความต้องการจับจ่ายใช้สอยในช่วงของเทศกาลต้นปีต่อเนื่องจากปลายปี 2563 ที่จะช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงข่าวความสำเร็จของวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งทยอยฉีดในบางประเทศแล้ว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง