​“จุรินทร์”มอบหนังสือรับรอง-อนุญาตใช้ตรา GI “ข้าวไร่ดอกข่าพังงา-ทุเรียนสาลิกาพังงา”

img

“จุรินทร์”เป็นประธานมอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน GI ข้าวไร่ดอกข่าพังงา และหนังสืออนุญาตใช้ตรา GI ทุเรียนสาลิกาพังงา มั่นใจช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าชุมชน และขายได้ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมสั่งลุยเพิ่มสินค้า GI ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เผยล่าสุดมีการขึ้นทะเบียน GI แล้วรวม 126 สินค้า สร้างรายได้ให้ชุมชน 5,378 ล้าน เฉพาะปี 63 ขึ้นทะเบียน 19 รายการ สร้างมูลค่าตลาดกว่า 1,000 ล้าน
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการมอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าข้าวไร่ดอกข่าพังงา ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาและประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพังงา และมอบหนังสืออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการทุเรียนสาลิกาพังงา จำนวน 18 ราย ณ ที่ว่าการ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ว่า สินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่ผลิตในชุมชน และสามารถต่อยอดการทำตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเร่งผลักดันของดีในชุมชนให้ขึ้นทะเบียนเป็น GI รายการใหม่ รวมทั้งส่งเสริมสินค้า GI เดิมให้มีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้นต่อไป
         
ทั้งนี้ ในภาคใต้ มีสินค้า GI หลากหลายรายการที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ และมีศักยภาพในการแข่งขัน เช่น ทุเรียนสาลิกาพังงา มุกภูเก็ต สับปะรดภูเก็ต กาแฟกระบี่ หรือแม้แต่สินค้าข้าวไร่ดอกข่าพังงา ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียน GI เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็สามารถสร้างรายได้สู่ชุมชนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
         


ก่อนหน้านี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียน GI แล้วรวม 126 สินค้าทั่วประเทศ สามารถสร้างเม็ดเงินให้ชุมชนท้องถิ่นของไทยรวมกว่า 5,378 ล้านบาท และเฉพาะปี 2563 ได้ผลักดันให้ขึ้นทะเบียน GI ได้ถึง 19 รายการ สร้างมูลค่าการตลาดกว่า 1,000 ล้านบาท
         
ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา และหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการร่วมกันในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการให้มีความพร้อมอย่างสูงสุดเพื่อรุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถยกระดับสินค้า GI ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และปลุกเศรษฐกิจชุมชนและของไทยให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายตลาดต่างประเทศ เช่น จีน และอินเดีย เป็นต้น

กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนคุ้มครองสินค้า GI ประเภทต่างๆ ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และหัตถกรรม โดยสินค้า GI เป็นสินค้าชุมชนที่มีคุณภาพและลักษณะพิเศษ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น จนทำให้สินค้ามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และได้เพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน



ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง