​กรมการค้าต่างประเทศเปิดตัว DFT SMART-1 พัฒนาระบบขอใบอนุญาต หนังสือรับรอง ใบรับรองมาตรฐาน

img

กรมการค้าต่างประเทศเปิดตัวโครงการ DFT SMART-1 พัฒนาระบบให้บริการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการส่งออก-นำเข้า และใบรับรองมาตรฐานสินค้า ในขั้นตอนเดียว โดยปรับลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลง ทำให้ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย ลดความซ้ำซ้อน พร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA ให้ใช้งานสะดวกขึ้น
         
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาระบบการให้บริการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการส่งออก-นำเข้าสินค้า และใบรับรองมาตรฐานสินค้า (DFT SMART Licensing Systems : DFT SMART-1) เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ ทำให้ลดกระบวนการที่ซ้ำซ้อน ลดเอกสารที่เป็นกระดาษ (Paperless) ลดระยะเวลาและลดต้นทุน และมีความทันสมัยสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 โดยคาดว่าจะพร้อมใช้งานต้นปี 2563 เป็นต้นไป

โดยในการพัฒนาระบบให้บริการดังกล่าว ได้มีการศึกษากระบวนการส่งออก-นำเข้าทั้งหมด นำมาปรับรูปแบบ ขั้นตอนการให้บริการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการส่งออก-นำเข้าสินค้า และใบรับรองมาตรฐานสินค้า โดยปรับลด ยกเลิกขั้นตอน หรือกระบวนการที่ปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น พร้อมกับนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือตรวจสอบความถูกต้องเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถขอรับบริการผ่านช่องทางเดียว ใช้เอกสารเพียงชุดเดียว (Single Entry) 

ทั้งนี้ หลังจากยื่นคำขอแล้ว ระบบจะจัดส่งคำขอแบบอัตโนมัติ รวมถึงส่งข้อมูลการอนุญาตส่งออก-นำเข้าไปยังกรมศุลกากร ทำให้สามารถประกอบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้กระดาษ (Paperless) ได้ ถือเป็นการอำนวยความสะดวกในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท Surveyor บริษัทขนส่งสินค้า ท่าเรือ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ และยังได้เพิ่มการชำระค่าธรรมเนียมในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เพื่อประหยัดเวลา โดยผู้รับบริการไม่ต้องเดินทางมารับเอกสารและชำระเงินที่กรมฯ อีกต่อไป  

สำหรับในปี 2561 กรมฯ ให้บริการออกหนังสือสำคัญการส่งออก-นำเข้าสินค้าจำนวนทั้งสิ้น 1.2 ล้านฉบับ เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2560 คิดเป็นมูลค่าถึง 3 พันล้านบาท (92.45 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นจ 9% และในจำนวนนี้เป็นใบอนุญาตส่งออก นำเข้าปริมาณ 1 แสน ฉบับ มูลค่า 3 ร้อยล้านบาท (9.25 ล้านเหรียญสหรัฐ) และหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: C/O) ปริมาณ 1.11 แสนฉบับ มูลค่า 2,600 ล้านบาท (80.12 ล้านเหรียญสหรัฐ)

นายอดุลย์กล่าวว่า กรมฯ มีแผนที่จะพัฒนาระบบบริการอื่นๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าในยุคปัจจุบัน ได้แก่ การออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: C/O) ภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เช่น อาเซียน , อาเซียน-เกาหลี และอาเซียน-ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งระบบดังกล่าวนอกจากจะมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานในประเทศแล้ว ยังจะเชื่อมโยงกับหน่วยงานศุลกากรของประเทศปลายทางผ่าน National Single Window (NSW) ทำให้เกิดประโยชน์ในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัทขนส่งสินค้า บริษัท surveyor ท่าเรือ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวก เพิ่มความรวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ถือเป็นการสร้างแต้มต่อทางการค้า และเพิ่มศักยภาพในด้านการนำเข้า-ส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย

***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit   
           
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง