“พาณิชย์”เตรียมทบทวนธุรกิจในบัญชีแนบท้ายพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เน้นสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนใน EEC โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve เหตุจะมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตามมาอีกมาก จึงต้องปรับปรุงให้เหมาะสม เพื่อดึงดูดการลงทุน
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการทบทวนประเภทธุรกิจตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยในการทบทวนปีนี้ จะมีความพิเศษกว่าการทบทวนในปีก่อนๆ เพราะจะให้ความสำคัญกับการทบทวนประเภทธุรกิจตามบัญชีแนบท้ายให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
ทั้งนี้ ในปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทั้ง S-Curve และ New S-Curve โดยการชักชวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนใน EEC เช่น กลุ่มการบิน โลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล การแพทย์และสุขภาพครบวงจร และเมื่อมีการลงทุนก็จะมีธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนตามเข้ามา ยกตัวอย่างเช่น บริการศูนย์ซ่อมบำรุง การวิจัยนวัตกรรมเกี่ยวกับ Automotive Robotic เป็นต้น ทำให้การทบทวนธุรกิจในบัญชีแนบท้าย ต้องให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนด้วย
“ในการปรับปรุงทบทวนบัญชีแนบท้ายของกฎหมาย จะพิจารณาแบบเดิมๆ ไม่ได้ การทบทวนจะต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพราะเมื่อมีการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาแล้ว ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนเหล่านี้ก็จะตามมาด้วย จึงต้องวางแผนรองรับให้ดี เพื่อช่วยเสริมการลงทุน และเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น”นายวุฒิไกรกล่าว
ส่วนการปรับปรุงธุรกิจบัญชีแนบท้ายอื่นๆ ยังคงยึดหลักการเดิม หากเป็นธุรกิจบริการที่มีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่ ก็จะพิจารณาถอดออกจากบัญชีแนบท้าย เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการขออนุญาต หรือหากเป็นธุรกิจที่คนไทยมีความพร้อมในการแข่งขัน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องสงวนเอาไว้ และล่าสุดได้เพิ่มเติม คือ เป็นธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0
ก่อนหน้านี้ ในปี 2561 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้ทบทวนและถอดบัญชีแนบท้ายของกฎหมายออกจำนวน 3 ธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการให้กู้ยืมเงินให้แก่บริษัทในเครือในกลุ่มในประเทศ 2.ธุรกิจบริการให้เช่าพื้นที่อาคาร พร้อมสาธารณูปโภคให้แก่บริษัทในเครือในกลุ่ม และ 3.ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแนะนำให้แก่บริษัทในเครือในกลุ่ม เฉพาะ 4 กิจกรรม คือ ด้านบริหารจัดการ ด้านการตลาด ด้านทรัพยากรบุคคล และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะไม่ได้เป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับวิชาชีพโดยตรง
โดยสาเหตุที่ได้พิจารณาถอด 3 รายการธุรกิจดังกล่าวออกจากบัญชีแนบท้าย 3 เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่กระทบต่อผู้ประกอบการคนไทย เป็นการให้บริการเฉพาะแก่บริษัทในเครือในกลุ่ม และยังเป็นการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้แก่คนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในการให้บริการดังกล่าว เนื่องจากตามปกติธุรกิจบริการที่อยู่ในบัญชี 3 คนต่างด้าวสามารถเข้ามาประกอบธุรกิจได้อยู่แล้ว โดยต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการถอดออกจากบัญชี 3ทำให้ไม่ต้องมาขออนุญาต ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอน อำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน และดึงดูดให้มีการเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์แบบฉับไว ส่งตรงถึงมือถือได้ที่ http://line.me/ti/p/%40uld0329i
***ติดตามข่าวสารพาณิชย์ ผ่านทวิตเตอร์ https://twitter.com/CNAOnlineTwit
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง