หลังจากที่ “สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA)” ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ และไทย ได้ประกาศ “ความสำเร็จ” การเจรจาจัดทำ “ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-EFTA” เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา
จากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินกระบวนการภายในประเทศ เพื่อขอความเห็นชอบในการลงนาม และได้กำหนดวันลงนามไว้วันที่ 23 ม.ค.2568 ในช่วงการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-24 ม.ค.2568 ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์
ต่อมา “กระทรวงพาณิชย์” ได้นำเสนอผลการเจรจา FTA ไทย-EFTA ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2568 และ ครม. ได้ให้ความเห็นชอบ ทำให้ไทยสามารถลงนามได้ตามวันที่กำหนดไว้
ในการลงนาม “นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” จะเป็นตัวแทนรัฐบาลไทย ลงนามกับรัฐมนตรี EFTA จาก 4 ประเทศ และเลขาธิการ EFTA โดยมี “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” เป็นสักขีพยาน
โดยสาระสำคัญใน FTA ไทย-EFTA ที่เจรจากันจบ มีทั้งสิ้น 15 เรื่อง ได้แก่ 1.การค้าสินค้า 2.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3.การอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.มาตรการเยียวยาทางการค้า 5.มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6.มาตรการอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า 7.การค้าบริการ 8.การลงทุน 9.ทรัพย์สินทางปัญญา 10.การแข่งขัน 11.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12.การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน (ครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อมและแรงงาน) 13.ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ 14.ประเด็นกฎหมายและการระงับข้อพิพาท และ 15.วิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs)
นายพิชัย บอกว่า ความสำเร็จของ FTA ฉบับนี้ ถือเป็นหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์การค้าไทย เนื่องจากเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป มีความทันสมัย มาตรฐานสูง สอดคล้องกับพัฒนาการของกฎเกณฑ์การค้ายุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ไม่เพียงแค่นั้น จะเป็นการ “ปูทาง” ไปสู่การเจรจาจัดทำ FTA ของไทยกับคู่ค้าสำคัญอื่น ๆ เช่น “ไทย-สหภาพยุโรป (อียู)” ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อไป
สำหรับ “ประโยชน์” ที่คาดว่าไทยจะได้รับจาก FTA ฉบับนี้ จากผลการศึกษา พบว่า “มีมาก” จนคาดไม่ถึง ทั้งการค้าสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมและประมง การค้าบริการและการลงทุน
“สินค้าเกษตร” ที่จะได้ประโยชน์ในการส่งออกไป EFTA เช่น อาหารปรุงแต่ง ผลิตภัณฑ์ปรุงรส ผัก ผลไม้สดและแปรรูป ข้าว เนื้อสัตว์ปีกสดและแปรรูป แป้งจากธัญพืช เส้นก๋วยเตี๋ยว อาหารสุนัขและแมว
“สินค้าอุตสาหกรรมและประมง” ที่จะได้รับประโยชน์ เช่น ปลากระป๋อง อาหารทะเลสดและแปรรูป เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจร ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัช ชุดแต่งกายและสิ่งทอ เคมีภัณฑ์ ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์
“การค้าบริการและการลงทุน” FTA ฉบับนี้ จะเสริมสร้าง “โอกาส” ด้านการลงทุนในธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง บริการทางการแพทย์ ธุรกิจค้าปลีกธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจด้านความงาม
และสุขภาพ รวมทั้ง “ขยายโอกาส” การเข้าไป “ทำงาน” ของบุคลากรของไทย แม้ว่าในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยจะยังไม่มีความพร้อมในการเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิก EFTA ในทุกสาขา แต่การมี FTA จะช่วยเสริมสร้างโอกาสการลงทุนของไทยในอนาคต เมื่อผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมและมีการพัฒนาศักยภาพ
นอกจากนี้ FTA ฉบับนี้ ยังจะช่วย “ดึงดูดการลงทุน” ในสาขาที่ไทยต้องการ โดยเฉพาะสาขาที่ใช้ “เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ” ที่ต้องการ Know How และการบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นในประเทศ
ขณะเดียวกัน คาดว่า “การค้าสองฝ่าย” จะขยายตัวได้มากขึ้น จากที่เคยค้าขายกัน
โดยในปี 2566 EFTA เป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับที่ 16 ของไทย มีมูลค่าการค้ากับไทย 9,887.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.72% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไป EFTA 4,390.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจาก EFTA 5,497.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเสียเปรียบดุลการค้า 1,106.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนในช่วง 9 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) การค้าไทยกับ EFTA มีมูลค่า 11,467.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2.06% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก เพิ่มขึ้น 24.94% โดยไทยส่งออกไป EFTA 4,121.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจาก EFTA 7,345.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเสียเปรียบดุลการค้า 3,223.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ในการลงนาม FTA ไทย-EFTA ไทยยังได้ใช้โอกาสนี้ โปรโมต “Soft Power” ของไทย ทราบมาว่า ได้เตรียม “ของขวัญ” มอบให้แก่รัฐมนตรี EFTA คือ “เทียนทำจากข้าวหอมมะลิในบรรจุภัณฑ์เซรามิก” ซึ่งเป็น “สินค้านวัตกรรม” ที่ใช้ข้าวมาผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ และยังตอบสนอง “เทรนด์โลก” ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจาก “ธรรมชาติ” ที่จะมีส่วนสำคัญในการ “ปกป้องสิ่งแวดล้อม” ของโลก
ส่วน “อาหารคาว-หวาน” ที่ได้ “ตระเตรียม” ไว้รับรองแขกผู้มีเกียรติในช่วง “ฉลองความสำเร็จ” ภายหลังจากการลงนาม FTA ล้วนแต่เป็นของขึ้นชื่อของไทย และเป็น Soft Power ด้านอาหารของไทย ไม่ว่าจะเป็น “สาคูช่อม่วง ส้มตำ สะเต๊ะไก่ ขนมครก ข้าวเหนียวสังขยาและปลาแห้ง” ที่พร้อมจะนำมาเสิร์ฟให้กับผู้เข้าร่วมงาน
การลงนาม FTA ไทย-EFTA ในครั้งนี้ ไม่เพียงสร้าง “ประวัติศาสตร์หน้าใหม่” ให้กับการค้าของไทย แต่ยังสามารถใช้โอกาสนี้ แสดง Soft Power ของไทย ที่ “รัฐบาล” และ “กระทรวงพาณิชย์” กำลังขับเคลื่อน ให้ปรากฎสู่สายตาชาวโลกได้อย่างแนบเนียนอีกด้วย
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง