​พาณิชย์xพิชัย นริพทะพันธุ์

img

เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ
         
โอกาสนี้ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ได้มีพระราชดำรัสแก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ ความว่า “รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสพบท่านนายกฯ และคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ขอให้พรด้วยความยินดี ให้คณะรัฐมนตรีมีกำลังใจ มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้ถวายสัตย์ไปแล้ว เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน ซึ่งข้าพเจ้าก็มั่นใจว่าจะปฏิบัติได้อย่างดี ก็ขอเป็นกำลังใจให้ ณ โอกาสนี้ และตลอดไป
         
จากนั้น น.ส.แพทองธาร ได้ประชุม “ครม.นัดพิเศษ” เพื่อหารือ “แนวนโยบายร่วมกัน” ของพรรคร่วมรัฐบาล ก่อนที่จะ “แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา” ในวันที่​ 12-13 ก.ย.นี้​ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ  
         
การปรับ ครม.ในครั้งนี้ “กระทรวงพาณิชย์” เกิดความเปลี่ยนแปลงในส่วนของ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” จาก “นายภูมิธรรม เวชยชัย” เป็น “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังเป็น 2 คนเดิม “นายนภินทร ศรีสรรพางค์-นายสุชาติ ชมกลิ่น
         
ปกติ “การเปลี่ยนแปลง” รัฐมนตรีที่กำกับดูแล มักจะมีการเปลี่ยนแปลง “นโยบายในการบริหารงาน” แต่รอบนี้ คาดว่า ถึงจะเปลี่ยน ก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะทั้งนายภูมิธรรม นายพิชัย ล้วนแต่เป็น “คนกันเอง” และมาจาก “พรรคเพื่อไทย” ด้วยกัน
         
ตัวนายพิชัยเอง ก็แถลงไว้ชัด หลังเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณว่า การทำงานที่กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งรัดหลายเรื่อง เน้นเรื่องที่ “เป็นปัญหา” และ “กระทบ” กับประชาชนก่อน  
         
เรื่องแรก “การแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง” บอกว่า จะไปดูเรื่อง “ต้นทุน” ของสินค้าว่ามีต้นทุน “เหมาะสม” หรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสม ก็จะเรียกผู้ประกอบการมาคุยว่าจะ “ลดราคา” ลงมาอย่างไร        
         
เรื่องต่อมา “สินค้าจีน” ที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทย ต้องดูว่า จะแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยตอนนี้ มีหลายมาตรการออกมาแล้ว จะดูว่า เพียงพอหรือไม่ แก้ไขได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ต้องออกมาตรการเพิ่ม และมาตรการอย่างไร
         
อีกเรื่อง จะให้ความสำคัญกับการเจรจา “ความตกลงการค้าเสรี (FTA)” กับประเทศต่าง ๆ เพราะหากไทยมี FTA มากเท่าไร ก็จะช่วยขยาย “การค้า” และดึงดูด “การลงทุน” ได้มากขึ้น
         


ฟังข่าว อ่านข่าวดูแล้ว ถือว่า “ขึงขัง” ใช้ได้ ยิงได้ “ตรงเป้า” เล่น “เรื่องใหญ่-เรื่องสำคัญ” ก่อน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ก็น่าจะอยู่ใน “นโยบายการทำงาน” แน่นอน ทั้งเรื่องการดูแลค่าครองชีพ การรักษาความเป็นธรรมทางการค้า การเจรจา FTA ที่จะมุ่งเปิดตลาดค้าขายให้กับไทย  
         
แต่ก็อยากจะ “สะกิด” ซักนิด อย่างเรื่อง “การดูแลค่าครองชีพ” ใครไปใครมา ก็มุ่งแต่จะ “ลดราคา ๆ” แต่ไม่เคยนึกเลยว่า “ผู้ประกอบการ” จะอยู่ได้มั้ย ต้นทุนผู้ประกอบการเป็นยังไง ทั้งค่าไฟ ค่าแรง ค่าน้ำมัน ค่าวัตถุดิบ เหล่านี้ลดหรือไม่ รัฐบาลจะช่วยอย่างไร เพื่อช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และนำไปสู่การไม่ขึ้นราคาสินค้า หรือดีหน่อย มีการปรับลดราคาสินค้าลงมาแบบจริง ๆ จัง ๆ  
         
ที่ผ่านมา มักจะใช้วิธี “กดราคา” กันมาโดยตลอด ซึ่ง “ผู้บริโภค” ก็ยินดี เพราะสินค้า “ไม่ขึ้น” แต่ใน “ความเป็นจริง” หากสังเกตกันดู รู้กันได้ สินค้ามีขนาด “เล็กลงเรื่อย ๆ” แต่ยังคงขาย “ราคาเดิม” แบบนี้ ไม่เรียกว่า “ขึ้นราคาทางอ้อมหรือ?” อยากให้รัฐมนตรีใหม่ช่วยดูด้วย  
         
เรื่องสินค้าจีน เห็นด้วยสุดตัว เพราะก่อนหน้านี้ นายภูมิธรรม รัฐมนตรีคนเก่า เริ่มต้นไว้ดีแล้ว “ออก 5 มาตรการหลัก 63 แผนปฏิบัติการ” เชื่อว่าแผนที่มีคง “จัดการได้” แต่ “ความยาก” น่าจะอยู่ที่ จะไปสั่งการข้ามหน่วยงานยังไง เพราะนายภูมิธรรม เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่ง แต่นายพิชัย เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์เพียงตำแหน่งเดียว ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป
         
สำหรับเรื่องการเจรจา FTA นี่ก็เห็นด้วย แต่ช่วย “เร่งรัด” การเจรจา “ให้จบตามเป้า” เพราะก่อนหน้านี้ ทุก FTA มีการ “วางเส้นตาย-เป้าปิดดีล” เอาไว้ทุกกรอบ จะจบปีนั้น ปีนี้ แต่เอาเข้าจริง หลายกรอบ “ล่าช้า-ไม่เป็นไปตามแผน” ก็ไม่รู้ว่า “ผิดที่เขา (คู่เจรจา)” หรือ “ช้าที่เรา” น่าจะไปตามดูหน่อย
         
ยกตัวอย่างให้เห็นละกัน “ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)” เดิมตั้งเป้า “ปิดดีล” ปี 2566 นี่จะจบปี 2567 แล้ว “ยังเงียบ” ยังดีที่ได้ “FTA ไทย-ศรีลังกา” มากู้หน้า เซ็นกันไปแล้ว ส่วน “ไทย-เอฟตา” ที่เดิมกำหนดไว้กลางปี 2567 นี่เลยมาแล้ว ก็ยังไม่จบ และยังมี FTA ที่อยู่ระหว่างเจรจา ทั้ง “ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-ภูฏาน ไทย-เกาหลีใต้” ที่ตั้งเป้าปิดดีล ปี 2568 ก็ต้องติดตามกันต่อไป จะ “หมู่หรือจ่า
         


ส่วน “เรื่องสำคัญ” อีกเรื่อง ที่นายพิชัย ไม่ได้กล่าวถึง แต่นายกรัฐมนตรี “สั่งการ” ให้รีบทำ ก็คือ “การแต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการ” ซึ่งเดิมทีในกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม น่าจะ “จัดโผ” ไว้เรียบร้อยแล้ว แต่รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องมีอันเป็นไปก่อน ก็เลย “ค้าง” มาจนถึงวันนี้
         
วันที่ 30 ก.ย.2567 มีตำแหน่งซี 10 ว่างจากการเกษียณ 2 ตำแหน่ง คือ “รองปลัดกระทรวงพาณิชย์-อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ว่าง 1 ตำแหน่ง คือ “อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา” ครบวาระ 4 ปี 1 คน “นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน” และใกล้จะครบ 4 ปี อีก 1 คน คือ “นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก” 2 คนหลังนี้ ถ้าไม่ต่ออายุ ก็ต้องโยกย้ายไปอยู่ตำแหน่งอื่น
         
ส่วนใครจะ “ถูกโยก-ถูกย้าย” ไปอยู่ตำแหน่งไหน ใครจะได้เป็นใหญ่ในตำแหน่งที่ว่าง หรือตำแหน่งหมุนเวียน ตอนนี้ ในกระทรวงพาณิชย์ก็ลือกันไปหมดแล้ว ก็คงในโผที่ลือ ๆ นี่แหละ
         
หากถามว่า ทำไมไม่ลองเดาดู รอบนี้ ขอ “เว้นวรรค” ไว้ก่อน เพราะการเมืองเปลี่ยน รัฐมนตรีเปลี่ยน ประกอบกับไม่เคยสัมผัส “วิธีการทำงาน” หรือ “วิธีบริหารคน” ของรัฐมนตรีคนใหม่ ทำให้ยัง “คาดเดา” อะไรไม่ออก
         
แต่ที่คาดเดาได้ นายภูมิธรรม คง “ฝากฝัง” เอาไว้แล้ว เพราะทำงานมาเป็นปี รู้ดีว่า “ผู้บริหารคนไหน ทำงานอย่างไร” จะจับใครไปลงตรงไหน ส่วนนายพิชัย เชื่อว่า คงจะรับฟัง ยิ่งนายภูมิธรรม หาใช่คนอื่นคนไกล ในทางการเมือง ถือเป็นเบอร์ 2 รองจากนายกรัฐมนตรี ในพรรคเพื่อไทย ก็ถือว่า มีปากมีเสียง
         
อีกไม่กี่อึดใจ ก็รู้ “ใครเข้าวิน
         
กลับมาที่นายพิชัย เร็ว ๆ นี้ คงแถลงนโยบายการทำงาน
         
จะนำพา “พาณิชย์” ไป “ทิศไหน-ทางใด”  
         
พาณิชย์xพิชัย นริพทะพันธุ์” จะ “เรียบ ๆ” หรือ “หวือหวา
         
มาคอยดูไปพร้อม ๆ กัน
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง