​ชวนใช้ “ไม้ยืนต้น” ค้ำกู้เงิน

img

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ได้นำ “คณะสื่อมวลชน” และ “ทีมงาน” ที่ดูแล “กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ” ลงพื้นที่ไปพบปะกับเกษตรกร ณ ศาลาอเนกประสงค์วัดพระธาตุจอมแว่ อ.พาน จ.เชียงราย
         
การเดินทางไปครั้งนี้ “นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า” นำทีมไปเอง พร้อมชวน “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)” ที่ดูแล “โครงการธนาคารต้นไม้” ไปด้วย เพื่อไปให้ “ความรู้” เรื่องกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ และ “ผลักดัน” ให้เกษตรกรนำ “ไม้ยืนต้น” ที่ปลูกในพื้นที่ของตัวเอง มาใช้เป็น “หลักทรัพย์ค้ำประกัน” ในการขอ “สินเชื่อ” จาก ธ.ก.ส.
         
กิจกรรมที่เกิดขึ้น มีการ “อบรม” ให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการธนาคารต้นไม้ การขอสินเชื่อโดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกัน คาร์บอนเครดิต และการให้ความรู้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจในการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และการ “เสวนา” หัวข้อ “ไม้ยืนต้น หลักประกันทางธุรกิจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยมีเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 120 ราย
         
หากถามว่า ทำไมต้องไปผลักดันให้เกษตรกรนำไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อ คำตอบ ที่ได้รับจาก “นางอรมน” ก็คือ มีเป้าหมาย เพื่อผลักดันให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น อนุรักษ์ป่าไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว มีรายได้จากการปลูกต้นไม้ และเป็นแหล่งผลิตคาร์บอนเครดิต  
         
ทั้งนี้ หลังจากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ “มีผลบังคับใช้” ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.2559 และ “กระทรวงพาณิชย์” ได้ออก “กฎกระทรวง” ให้สามารถนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน
         


ผลการดำเนินงานปรากฏว่า มีการ “จดทะเบียน” ไม้ยืนต้น เป็น “หลักประกันทางธุรกิจ” ทั่วประเทศเพียง 22 จังหวัด และมีผู้นำไม้ยืนต้นมา “จดทะเบียนสัญญา” เป็นหลักประกันธุรกิจ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค.2567) จำนวน 154,470 ต้น มูลค่ารวม 145,032,453.04 บาท แบ่งเป็น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 23,000 ต้น วงเงิน 128 ล้านบาท ธ.ก.ส. 1,482 ต้น วงเงิน 10,738,561.12 บาท และ กลุ่มพิโกไฟแนนซ์ 129,988 ต้น วงเงิน 6,293,891.92 บาท
         
โดยจังหวัดที่ผู้ประกอบธุรกิจ เกษตรกร และประชาชน นำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจำนวน 22 จังหวัดนั้น แบ่งเป็น ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู อุบลราชธานี ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ภาคตะวันตก 4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร พังงา พัทลุง
         
ส่วนประเภท “ไม้ยืนต้น” ที่นำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เช่น มะขาม มะกอกป่า สะเดา มะม่วง ยาง สัก ขนุน ยูคาลิปตัส ไม้สกุลทุเรียน เป็นต้น
         
นางอรมนกล่าวว่า กรมมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกษตรกร ประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจ ปลูกไม้ยืนยันที่มีค่าบนที่ดินกรรมสิทธิ์ของตัวเอง และเมื่อต้องการใช้เงินเพื่อต่อยอดทำธุรกิจหรือดำรงชีวิตประจำวัน ก็สามารถนำไม้ยืนต้นมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
         


ปัจจุบัน “ไม่ได้จำกัด” ไม้ยืนต้นเพียง 58 ประเภท แต่ “ไม้ยืนต้นทุกประเภท” สามารถนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อได้ตามข้อตกลงระหว่างผู้รับหลักประกัน (สถาบันการเงิน) กับผู้ให้หลักประกัน (เกษตรกรผู้ปลูกไม้ยืนต้น)

ทั้งนี้ ไม้ยืนต้นที่ปลูก ยังคงอยู่บนพื้นที่ของตนเอง เกษตรกรสามารถนำไม้ยืนต้นนั้นไปต่อยอดสร้างรายได้อื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น เป็นแหล่งผลิตคาร์บอนเครดิตเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ซื้อไปเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามกลไกของตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ และสอดรับกับกระแสการดำเนินธุรกิจของโลกอนาคต
         
สำหรับไม้ยืนต้น ที่จะนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ถ้าเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วถึงปานกลาง รอบตัดฟันสั้น มูลค่าเนื้อไม้ต่ำ เช่น ยูคาลิปตัส สัตตบรรณ กระถินเทพา กระถินณรงค์ ก็จะได้มูลค่าไม่มาก แต่ถ้าเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าเนื้อไม้สูง เช่น ประดู่ ยางนา กระบาก สะตอ มูลค่าก็จะสูงขึ้นตามมา และถ้าเป็นไม้ที่การเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มููลค่าของเนื้้อไม้สูง เช่น สัก พะยูง ชิงชัน จันทน์หอม มะค่าโมง พวกนี้ จะได้มูลค่ามาก
         
ส่วนเงื่อนไขการเข้าร่วมใช้หลักประกัน คร่าว ๆ ต้องเป็นต้นไม้อายุ 1 ปีขึ้นไป มีลำต้นตรง 2 เมตร วัดเส้นรอบวงที่ความสูง 130 เซนติเมตรจากพื้นดิน และต้องมีขนาดเส้นรอบวงไม่ต่ำกว่า 3 เซนติเมตร
         
ขอเชิญชวนเกษตรกร ทั่วทั้งประเทศ ปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ดินของตัวเอง ตอนนี้ปลูกได้ทุกประเภท และเมื่อปลูกแล้ว ไม่เพียงช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มออกซิเจน เป็นแหล่งผลิตคาร์บอนเครดิต แต่ยังจะมีรายได้จากการขายไม้ในอนาคต และในระหว่างไม้เติบโต ก็สามารถนำมาใช้ในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ด้วย
         
เห็น “ประโยชน์” มากขนาดนี้แล้ว
         
มา “ช่วยกัน” ปลูกต้นไม้กันเถอะ
         
ปลูกแล้ว ได้ “พื้นที่สีเขียว” แถม “ได้ตังค์” ด้วย  
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง