​เห็นแววยุคฮอตเซ็น FTA

img

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา “นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้บินข้ามน้ำข้ามทะเลไปลงนาม “ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ศรีลังกา” ซึ่งเป็น “FTA ฉบับแรก” ของ “รัฐบาลชุดนี้” และเป็น “FTA ฉบับที่ 15” ของไทย    
         
ก่อนหน้านี้ ไทยมี FTA แล้ว 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี ฮ่องกง และอาเซียน 9 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา บรูไน เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
         
FTA ที่เซ็นก่อนหน้า ฉบับแรกก็ต้องย้อนไปถึงปี 2535 หรือกว่า 30 ปีมาแล้ว และจากนั้นก็มีการเจรจา FTA กันหลายกรอบ กว่าจะเซ็นฉบับที่ 2 ได้ก็ผ่านไปกว่า 10 ปี ต่อมา ก็เซ็นเพิ่มเติม ไล่มาเรื่อย ๆ จนฉบับก่อนล่าสุด คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ลงนามกันไปเมื่อปลายปี 2563
         
ผลจากการลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกา ทำให้ภาพรวมไทยมี FTA 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศ ซึ่งก็คือ ศรีลังกา ที่เพิ่มเข้ามาใหม่
         
ประโยชน์” ที่จะ “เกิดขึ้น” จาก FTA ฉบับนี้ ทั้งสองฝ่าย ได้มีการเปิดตลาด “การค้าสินค้า” กว่า 85% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด เป็นระดับการเปิดตลาดที่ “เท่าเทียมกัน” ของทั้งสองฝ่าย และมีระยะเวลาในการลด ยกเว้นอากรในเวลา 16 ปี นับจากความตกลงมีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าความตกลงจะ “บังคับใช้ในปี 2567”  
         
โดย “สินค้า” ที่ศรีลังกาจะ “ยกเว้นอากรให้ทันที” คิดเป็น 50% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด หรือกว่า 4,000 รายการ อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปุ๋ย หนังเทียม เคมีภัณฑ์ เยื่อกระดาษและกระดาษคราฟท์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลาซาดีน ปลาแซลมอนกระป๋อง อาหารสัตว์ กุ้งแช่เย็น โคกระบือมีชีวิต และเครื่องเงิน
        


ภาคบริการ” ศรีลังกาเปิดให้ไทยเข้าไปถือหุ้นในสาขาบริการได้ถึง 100% ใน 50 สาขาย่อย อาทิ บริการโรงแรมและร้านอาหาร บริการขนส่งทางทะเล บริการนายหน้าและตัวแทนประกันภัย บริการแฟรนไชส์บริการโทรคมนาคม บริการสิ่งแวดล้อม บริการโฆษณา และบริการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ

ภาคการลงทุน” ศรีลังกาเปิดให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนโดยถือหุ้นได้ 100% ใน 35 สาขา อาทิ การแปรรูปอาหาร (ผลไม้ ผัก ถั่ว มั่นฝรั่ง) การผลิตสิ่งทอ (ยกเว้นทอผ้าด้วยมือ) การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตยาและเวชภัณฑ์ การผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์และทันตกรรม
         
นอกจากนี้ “ศรีลังกา” แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 22 ล้านคน แต่มี “จุดเด่น” ด้านที่ตั้ง ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของ “การขนส่งทางเรือ” ของโลก เชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ประกอบกับเป็นประเทศที่มี “ทรัพยากรธรรมชาติ” อุดมสมบูรณ์ เช่น แร่รัตนชาติ แร่แกรไฟต์ และสัตว์ทะเล เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นโอกาสสำหรับไทย
         
นายภูมิธรรม” กล่าวว่า จากนี้ “กระทรวงพาณิชย์” จะเร่งจัด “ประชาพิจารณ์” FTA ไทย-ศรีลังกา เพื่อรวบรวม “ความเห็น” จากทุกภาคส่วน ก่อนนำเสนอต่อ “รัฐสภา” เพื่อขอ “ความเห็นชอบ” และได้มอบหมายให้ “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” เร่งจัดสัมมนาเพื่อให้ “ข้อมูล” เกี่ยวกับการเปิดตลาด “การค้าสินค้า บริการ และการลงทุน” ภายใต้ FTA ไทย–ศรีลังกา แก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนไทย ได้เตรียม “ใช้ประโยชน์” ทันที ที่ความตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้
         
ทั้งนี้ ยังได้กำชับให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งเจรจา FTA ที่ “ใกล้งวด” อย่าง “FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA)” ให้สำเร็จภายในปี 2567 และ “FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู)” ให้เสร็จภายในปี 2568 และ “FTA อาเซียน-แคนาดา” ให้เสร็จภายในปี 2568 ตามเป้าที่กำหนดไว้ด้วย
         


จากที่ “ผู้เขียน” ได้ติดตามการเจรจาและผลการเจรจามาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ตรวจสอบ “ความคืบหน้า” กับทีมเจรจา ถ้าจะให้ฟันธง “ไทย-EFTA” ปีนี้จบแน่ และจะทำสถิติใหม่เป็น “FTA ฉบับแรก” ที่ไทยทำกับประเทศใน “ยุโรป” ต่อมา “ไทย-อียู” ก็น่าจะจบ เพราะสองฝ่ายต่างมี “เป้าหมาย” เดียวกัน ส่วน “อาเซียน-แคนาดา” ก็มีความคืบหน้า และทั้งอาเซียนและแคนาดา ก็ต้องการให้จบ
         
นี่ยังไม่รวม FTA ฉบับใหม่ ที่อยู่ “ระหว่างเจรจา” อย่าง “ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)” ที่ไม่แน่ว่าการเจรจาอาจจบเร็วก็ได้ รวมไปถึง “ไทย-ตุรกี” และ “ไทย-ปากีสถาน” ที่ขณะนี้การเจรจาก็มีความ “คืบหน้า” เพิ่มขึ้น และอาจจะ “ตกลงกันได้” ก็ได้
         
ถ้าให้สรุปแบบ “เอาชัวร์ ๆ” และไม่กดดัน “ทีมเจรจา” จนเกินไป และ “คู่เจรจา” เอาด้วย ปี 2 ปีนี้ น่าจะมี FTA ที่เจรจาจบอย่างน้อย ๆ 3 FTA แต่ถ้าเกิด “โชคดี” อาจได้มากกว่านั้น
         
นอกจากนี้ ยังไม่ “นับรวม” FTA ฉบับใหม่ ๆ ที่จะ “เปิดการเจรจา” เพิ่มเติม เช่น FTA ไทย-เกาหลีใต้ ไทย-ภูฏาย ไทย-อิสราเอล ไทย-สหราชอาณาจักร ไทย-กลุ่มประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ไทย-สหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (SACU) ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (PA) ไทย-ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (Mercosur) และไทย-กลุ่มประชาคมแอฟริกาตะวันออก (EAC) ที่ไม่แน่ว่า อาจจะเจรจาแบบ “ติดสปีด” ก็เป็นไปได้  
         
อย่างที่เกร่นมา ถ้าการเจรจา FTA เป็นไป “ตามเป้า” ก็จะทำให้เป้าหมายที่ “รัฐบาล” และ “นายภูมิธรรม” ตั้งใจจะใช้ FTA เป็นใบ “เบิกทาง” และใช้เป็น “ประตู” เปิดตลาดให้กับ “สินค้า” และ “บริการ” ของไทยออกสู่ตลาดโลกได้เพิ่มมากขึ้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินจริง
         
และหากเป็นไปตาม “เป้าหมาย” ที่ตั้งไว้ “รัฐบาลชุดนี้” จะเป็นรัฐบาลที่ประสบ “ความสำเร็จ” ในการเจรจา “ปิดดีล” FTA ได้มากที่สุด

ตัว “นายภูมิธรรม” เอง ก็ยังจะได้ชื่อว่าเป็น “รัฐมนตรี” ที่เซ็น FTA มากที่สุดเช่นเดียวกัน

บันทึก” ไว้ตรงนี้ แล้วรอ “ติดตาม” กัน
                   
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด