​ส่งออกไทยปี 66 เกินคาด

img

เมื่อช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา “กระทรวงพาณิชย์” ได้ตั้ง “เป้าหมายการส่งออก” สำหรับปี 2566 ไว้ว่าจะขยายตัวที่ 1-2% ท่ามกลางเสียงท้วงติง ทั้งจากภาคเอกชน และหน่วยงานเศรษฐกิจต่าง ๆ ว่า เป็นเป้าที่ “ทำได้ยาก
         
เพราะตอนนั้น “เศรษฐกิจโลก” อยู่ในช่วงชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดหลักของไทย ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น “ราคาน้ำมัน” อยู่ในระดับสูง กระทบต่อต้นทุนการผลิต “ค่าเงินบาท” มีแนวโน้มแข็งขึ้น และ “ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์” ยังตรึงเครียด
         
ไม่เพียงแค่นั้น ช่วงที่อยู่ระหว่างการทำงานขับเคลื่อนการส่งออก หลายฝ่าย ก็ออกมา “ลดเป้า-หดเป้า” กันเป็นว่าเล่น ทั้งมองว่าจะลบเกิน 2% ก็มี ลบ 2% ก็มี หรือดีสุดลบ 1% ก็มี  
         
แต่กระทรวงพาณิชย์ ยังยืนยันที่จะคงเป้าเอาไว้ เพื่อเป็น “เป้าทำงาน” และมุ่งทำงาน “อย่างหนัก” ร่วมกับภาคเอกชน
         
ทว่าการทำงาน ในช่วงแรก ๆ ยังไม่ปรากฏผล เพราะ “การส่งออก” ในช่วง 7 เดือนของปี 2566 ยังคงขยายตัว “ติดลบ” เริ่มจาก ม.ค.2566 ลบ 4.6% ก.พ.2566 ลบ 4.8% มี.ค.ลบ 4.2% เม.ย.2566 ลบ 7.7% พ.ค. ลบ 4.6% มิ.ย. ลบ 6.5% ก.ค.ลบ 6.2%

เพิ่งเริ่มกลับมาพลิก “เป็นบวก” ในเดือน ส.ค. ที่ 2.6% จากนั้น ก.ย. บวก 2.1% ต.ค. บวก 8% พ.ย. บวก 4.9% และปิดท้าย ธ.ค. บวก 4.9% เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้น 5 เดือนติด
         
ส่งผลให้ “การส่งออก” ทั้งปี 2566 ทำได้ที่มูลค่า 284,749.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 1% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 9,809,007.7 ล้านบาท ส่วน “การนำเข้า” มูลค่า 289,533.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 3.1% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 10,111,448.4 ล้านบาท “ขาดดุลการค้า” มูลค่า 5,192.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 302,925.9 ล้านบาท
         


ในยอดการส่งออกทั้งหมด หากดูสินค้าส่งออก 10 อันดับแรก ปรากฏว่ามีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 45.5% ของการส่งออกทั้งหมด โดยรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าที่ส่งออกได้มากที่สุด มีสัดส่วน 10.9% รองลงมา ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ สัดส่วน 6.3% อัญมณีและเครื่องประดับ สัดส่วน 5.2% ผลิตภัณฑ์ยาง สัดส่วน 4.7% น้ำมันสำเร็จรูป สัดส่วน 3.6% แผงวงจรไฟฟ้า สัดส่วน 3.4% เม็ดพลาสติก สัดส่วน 3.1% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล สัดส่วน 3.1% เคมีภัณฑ์ สัดส่วน 2.8% และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สัดส่วน 2.4%
         
ส่วนตลาดส่งออก 10 อันดับแรก มีสัดส่วนร่วมกันคิดเป็น 64.9% ของการส่งออกทั้งหมด โดยตลาดสหรัฐฯ นำโด่ง มีสัดส่วนสูงถึง 17.2% รองลงมา คือ จีน สัดส่วน 12% ญี่ปุ่น สัดส่วน 8.7% ออสเตรเลีย สัดส่วน 4.3% มาเลเซีย สัดส่วน 4.2% เวียดนาม สัดส่วน 3.9% ฮ่องกง สัดส่วน 3.9% สิงคโปร์ สัดส่วน 3.6% อินเดีย สัดส่วน 3.6% และอินโดนีเซีย สัดส่วน 3.5%
         
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์” บอกว่า ตัวเลขทั้งปีที่ออกมาติดลบ 1% ถือว่าผิดคาดมาก เพราะหลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ว่าจะติดลบ 2% ขึ้นไป แต่ออกมาที่ลบ 1% ก็ถือว่า “ทำได้ดีที่สุดแล้ว” โดยเป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ทำกันเต็มที่
         
ในใจ ก็ต้องบอกว่าดีใจ แม้ภาพรวมการส่งออกจะติดลบ แต่ก็ติดลบได้น้อยกว่าที่คาด และยังเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์เคยประกาศไว้ว่าจะผลักดันให้การส่งออกปี 2566 ขยายตัวติดลบน้อยที่สุด และสุดท้ายก็ทำได้”นายกีรติกล่าว
         
นายกีรติ ยังได้ยกตัวอย่างให้เห็นอีกว่า เมื่อดูตัวเลขการส่งออกของไทย เทียบกับ “เพื่อนบ้าน-คู่แข่ง” ไทยทำได้ดีกว่าหลายประเทศมาก
         
ยกตัวอย่างเช่น ไต้หวัน ลบ 9.8% เวียดนาม ลบ 4.8% เกาหลีใต้ ลบ 7.5% ญี่ปุ่น ลบ 3.9% จีน ลบ 4.6% อินเดีย ลบ 4.7% สิงคโปร์ ลบ 7.7% อินโดนีเซีย ลบ 11.3% มาเลเซีย ลบ 11.1% เป็นต้น
         


ส่วน “เป้าหมายการส่งออกปี 2567” เบื้องต้น ได้ตั้ง “เป้าทำงาน” เหมือนเดิม วางไว้ที่ขยายตัว 1-2% มูลค่า 280,000-290,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9.8-10 ล้านล้านบาท
         
โดย “ปัจจัยสนับสนุน” มาจาก การขยายตัวของ “เศรษฐกิจโลก” ที่มีเสถียรภาพ แรงกดดันจาก “เงินเฟ้อ” ลดลง การสิ้นสุดนโยบาย “การเงินตึงตัว” ของประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่งผลดีต่อ “การค้าโลก” ให้ขยายตัว มีแรงหนุนจากการ สำรอง “สินค้าเกษตร” และ “อาหาร” ตามความมั่งคงทางอาหาร และการฟื้นตัวของ “สินค้าอิเล็กทรอนิกส์” ทั่วโลก
         
แต่ก็มี “ปัจจัยเสี่ยง” ที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้ง “ความตึงเครียด” ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ “ปัญหาการขนส่ง” ผ่านทะเลแดง ผลกระทบจาก “ภัยแล้ง” และ “เศรษฐกิจจีน” ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
         
“กระทรวงพาณิชย์ เฝ้าระวังทุกปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้ว และมีแผนผลักดันการส่งออกรองรับไว้แล้ว ตอนนี้มีรวม ๆ กว่า 400 กิจกรรม และยังมีแผนที่จะบุกเจาะจีนเป็นรายมณฑล เพื่อเร่งขยายตลาดจีน ที่เศรษฐกิจชะลอ และหันไปเจาะเมืองรองในอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อีกตลาด เพื่อทดแทนตลาดจีน รวมทั้งจะบุกแอฟริกาใต้ ที่เป็นทางผ่านของเรือขนส่งสินค้าช่วงทะเลแดงมีปัญหา”นายกีรติกล่าว
         
ตั้งแต่เดือน ก.พ.2567 เป็นต้นไป “กระทรวงพาณิชย์” จะเริ่มรายงานตัวเลขการส่งออกรายเดือน เริ่มจากตัวเลขของเดือน ม.ค.2567 ไล่ไปเรื่อย ๆ
         
เรามาคอยดูกันว่า “ทิศทาง” จะเป็นอย่างไร
         
ส่วนผู้เขียน ก็ขอเอาใจช่วยให้ทำสำเร็จ
         
เพราะเห็น “กระทรวงพาณิชย์” ทำงานร่วมกับ “ภาคเอกชน” อย่างแข็งขัน-จริงจัง
         
เป้าปีนี้ 1-2% ไม่น่าจะไกลเกินจริง
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด