​หลักเกณฑ์ขึ้นราคาสินค้า

img

อย่างที่รู้กัน ตั้งแต่ 1 พ.ค.2565 รัฐบาลปล่อยลอยตัว “น้ำมันดีเซล” แบบขั้นบันได
         
ราคาดีเซลขยับขึ้นทันทีลิตรละ 2 บาท ทำให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มจากที่เคยตรึงไว้ลิตรละ 30 บาท เป็นลิตรละ 32 บาททันที
         
แต่ยังไม่จบแค่นี้ ยังมีเป้าต่อไป คือ ลิตรละ 35 บาท ที่เป็นเพดานสูงสุด จากเดิม 30 บาท และมีแนวโน้มที่จะไปถึง 35 บาทในไม่ช้านี้ เพราะราคาน้ำมันตลาดโลก ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
         
การปรับขึ้นราคาดีเซล มีผลกระทบต่อต้นทุน ทั้ง “ค่าขนส่ง-ราคาสินค้า” และ “ค่าครองชีพ” 
         
ตอนนี้ ภาครัฐได้พยายามขอความร่วมมือภาคเอกชน ให้ช่วยกันตรึง ทั้งค่าขนส่ง ค่าสินค้า แต่ว่ากันตามจริง คงจะตรึงได้อีกไม่นาน
         
ที่ชัดเจนที่สุด ก็ “ค่าขนส่ง” คง “อั้นต่อไม่ไหว” เพราะผู้ประกอบการ “พูดชัด” ว่า ดีเซลขึ้น ค่าขนส่งขึ้น
         
แต่ราคาสินค้า “กระทรวงพาณิชย์” พยายามที่จะ “ตรึงราคา” อยู่
         
ตอนนี้ 18 หมวดสำคัญ ก็พยายาม “ตรึง” กันให้ได้นานที่สุด  
         
18 หมวดสำคัญที่ว่า ประกอบด้วย 1.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2.หมวดอาหารสด 3.อาหารกระป๋อง 4.ข้าวสารถุง 5.ซอสปรุงรส 6.น้ำมันพืช 7.น้ำอัดลม 8.นมและผลิตภัณฑ์จากนม 9.เครื่องใช้ไฟฟ้า 10.ผลิตภัณฑ์ซักล้าง 11.ปุ๋ย 12.ยาฆ่าแมลง 13.อาหารสัตว์ 14.เหล็ก 15.ปูนซีเมนต์ 16.กระดาษ 17.ยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ 18.บริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง

อย่าง “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ที่มี “ข่าวหลุด” ออกมา จะขึ้นราคาตั้งแต่ 1 พ.ค.2565

ตอนนี้ ก็ “เคลียร์จบ-คุยจบ” ผู้ประกอบการไม่ขึ้นแล้ว ยอม “กลืนเลือด” รับภาระต้นทุนเอาไว้เอง แต่มี “เงื่อนไข” ขอให้ภาครัฐช่วยลดต้นทุนให้ด้วย ตอนนี้ ก็พยายามช่วย ๆ อยู่
         
ส่วนรายการอื่น ๆ บางรายการ เริ่มมีการ “ขยับราคา” ขึ้นบ้าง เริ่มจากการปรับลด “ส่วนลดทางการค้า” อย่างเดิม เคยให้ 10-20% ก็ให้ “น้อยลง” จนถึง “ไม่ให้
         


ราคาปลายทาง ก็เลยดูเหมือนว่า “ขึ้นราคา” แต่จริง ๆ เป็นการปรับส่วนลดทางการค้า และขยับราคาขายเต็มเพดานที่เคยกำหนดกันไว้เดิม
         
แต่ในระยะต่อไป ต้องยอมรับ “ความจริง” ว่า “ของจริง” กำลังจะมา
         
เพราะ “ต้นทุน” ที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้ขึ้นแค่เฉพาะ “น้ำมันดีเซล” แต่ต้นทุน “วัตถุดิบ” อื่น ๆ ก็ขึ้น และขึ้นมานานแล้ว
         
ที่ยัง “ตรึง” กันได้ตอนนี้ ก็เป็นวัตถุดิบ “สต๊อกเก่า” แต่วัตถุดิบ “สต๊อกใหม่” คงยาก
         
ผู้ประกอบการหลายราย ได้ส่งเรื่องขอ “อนุมัติ” ปรับขึ้นราคา เข้ามายัง “กรมการค้าภายใน” กันบ้างแล้ว
         
ทุกสินค้ายังอยู่ในขั้นตอน “การพิจารณา” ยังไม่ให้ผู้ผลิตรายใดขึ้น
         
สำหรับ “หลักเกณฑ์” การปรับขึ้นราคาสินค้า ที่หลายคนมีความเป็นห่วงว่ากระทรวงพาณิชย์จะให้ขึ้นแบบไม่ลืมหูลืมตา

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน” ในฐานะที่กำกับดูแล บอกว่า “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้ให้นโยบายมาแล้ว “การปรับขึ้นราคาสินค้า” ต้องยึดหลัก “เป็นธรรม” ทุกภาคส่วน “อยู่ได้” ทั้ง “เกษตรกร-ผู้ผลิต-ผู้บริโภค” ไม่ใช่โยน “ภาระ” ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
         
ดังนั้น การพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้า จะไม่มีการขึ้นแบบพรวดพราด แต่จะพิจารณาตามต้นทุนที่แท้จริง และพิจารณาเป็นรายผู้ผลิต รายสินค้า เพราะแต่ละรายต้นทุนไม่เท่ากัน รายใหญ่ รายเล็ก ต้นทุนก็แตกต่างกัน หรือสินค้าแบบเดียวกัน ต้นทุนอาจไม่เท่ากันก็ได้
         
ถามว่า สามารถขอความร่วมมือ “ตรึงราคา” ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ได้หรือไม่ นายวัฒนศักย์ ตอบว่า ทำได้ แต่จะไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม เพราะผู้ผลิต จะ “เลิก” ผลิตสินค้า เนื่องจากผลิตมาแล้ว ต้องขาย “ขาดทุน” สู้ไม่ผลิตดีกว่า
         


ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ของผู้ผลิต พบว่า ทุกรายพูด “ตรงกัน” โดยบางรายเริ่มขายสินค้าแบบขาดทุน บางรายเหลือกำไรนิดหน่อย บางรายแทบไม่เหลือ ถ้ารัฐยังขอให้ตรึงราคาต่อไป ทางรอดทางเดียว คือ หยุดผลิต

ถ้าเป็นไปตามที่ผู้ผลิตว่า จะเกิดปัญหา “สินค้าขาดแคลน” ตามมา แล้วจะกลายเป็น “เรื่องใหญ่” กว่า
         
จะหนักหนาสาหัสกว่าสินค้าแพงอีก รัฐต้องชั่งน้ำหนัก “ให้ขึ้น” หรือปล่อยให้ “ขาดแคลน
         
นายวัฒนศักย์ ย้ำว่า เรื่องขาดแคลนปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้ ทางออกในเรื่องนี้ ต้องยอมให้สินค้าปรับขึ้นราคา แต่การปรับขึ้นราคา ก็ต้องยึดหลัก 3 ฝ่ายอยู่ได้

ทุกคนต้อง “ถอยคนละก้าว” โดยเกษตรกรอยู่ได้ ผู้ผลิตอยู่ได้ ผู้บริโภคอยู่ได้ ทุก ๆ ภาคส่วน ต้องแบกรับภาระเท่า ๆ กัน ไม่โยนให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป
         
นี่คือ หลักการ  
         
สำหรับมาตรการดูแล “ค่าครองชีพ” ในระยะต่อไป นายวัฒนศักย์ให้ข้อมูลว่า “จะมีความเข้มข้น” มากขึ้น จะ “เพิ่มจุด” จำหน่ายสินค้าราคาประหยัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมากขึ้น รวมถึง “รถโมบาย” ที่จะตะเวนขายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ จะมีจำนวนมากขึ้น
         
ไม่เพียงแค่นั้น จะจัด “มหกรรมสินค้าราคาประหยัด 4 มุมเมือง” ตอนนี้ กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการ จะมีความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้  
         
จาก “หลัก” และ “แนวทาง” การทำงานข้างต้น

น่าจะทำให้ “เห็นภาพ” ว่า “กระทรวงพาณิชย์” จะไม่ปล่อยให้ “สินค้า” ขึ้นราคากันทีเดียวยกแผง

หรือถ้า “จำเป็น” ต้องให้ขึ้นราคา ก็จะ “ให้ขึ้น” แบบ “สมเหตุสมผล” และ “อธิบาย” ได้

ตอนนี้ “วิกฤตของแพง” เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เฉพาะ “ที่ไทย” แต่เป็นกันทั่วโลก

บางประเทศ “เงินเฟ้อ” ขยับขึ้นสูงสุดในรอบ 10 , 20 หรือ 30 ปี แต่ไทยเดือนมี.ค.2565 สูงสุดในรอบ 14 ปี ก็ยังดีกว่าหลายประเทศ
         
สุดท้าย ไม่อยากบอกให้ “ทำใจ” แต่ขอให้ “เข้าใจ” เพราะได้รับ “คำยืนยัน” จากกระทรวงพาณิชย์ ว่า จะทำให้ดีที่สุด
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด