​อย่าเอาชาวนาเป็นตัวประกัน

img

ปัจจุบัน “โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีที่ 3” กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2564
         
อนุมัติกรอบวงเงิน 18,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 13,000 ล้านบาท สำหรับจ่ายชดเชยรายได้ และ 5,000 ล้านบาท สำหรับใช้ดำเนินมาตรการคู่ขนาน
         
หลังจาก ครม.อนุมัติ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้ประชุมพิจารณาการจ่ายเงิน “ส่วนต่าง” ทันที เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2564
         
มีมติจ่ายเงินส่วนต่างข้าวทั้ง 5 ชนิดที่ประกันรายได้
         
จากนั้น “ชาวนา” ก็รอเงินเข้าบัญชี ซึ่งตามเงื่อนไขเดิม คือ ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 3 วันทำการ หลังจากเคาะราคาส่วนต่าง
         
แต่ปรากฏว่า “เงินไม่เข้าบัญชี” ตามกำหนด
         
เพราะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย มาตรา 28 ของพ.ร.บ.การเงินการคลัง ที่ต้องรายงาน ครม. อนุมัติงบประมาณก่อนดำเนินการ
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้เร่งทำเรื่องรายงาน ครม. วันที่ 4 พ.ย.2564 เมื่อ ครม.รับทราบ ก็กำหนดจ่ายเงินงวดแรก วันที่ 9 พ.ย.2564 เพราะติดเสาร์-อาทิตย์
         
ถือว่า “คิกออฟ” จ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้ งวดแรกออกไปได้
         
ต่อมาวันที่ 5 พ.ย.2564 ได้เคาะชดเชยส่วนต่างข้าว 3 งวดรวด คือ งวดที่ 2 , 3 และ 4 และมีกำหนดจ่ายเงิน คือ วันที่ 10 พ.ย.2564
         
เมื่อถึงเวลา ธ.ก.ส.สามารถจ่ายส่วนต่างได้แค่ งวดที่ 2 และงวดที่ 3 บางส่วน
         
เพราะวงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้สำหรับจ่ายส่วนต่าง “หมด” ลงก่อน  
         
ทำให้ชาวนา ที่รอเงินเข้าบัญชี ก็ต้อง “รอเก้อ
         


ปัจจุบัน ได้มีการเคาะราคาส่วนต่างแล้วถึงงวดที่ 6 แต่ชาวนาก็ยังไม่ได้เงิน
         
ปัญหาที่เกิดขึ้นในโครงการประกันรายได้ปีที่ 3 ก็อย่างที่เกร่นไว้ข้างต้น ตอนนี้เพดานหนี้ตามมาตรา 28 ของพ.ร.บ.การเงินการคลัง ใกล้จะเต็มเพดาน เพราะกำหนดกรอบหนี้ไว้ไม่เกิน 30% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี
         
อย่างปี 2565 รัฐบาลต้องมีหนี้ไม่เกิน 9.3 แสนล้านบาท จากงบประมาณปี 2565 ที่มีวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท
         
เฉพาะงบประมาณอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร ปี 2564/65 ตั้งงบไว้ที่ 1.74 แสนล้านบาท แต่อาจจะ “ใช้จริง” มากกว่านี้  
         
ยิ่งทำให้ตอนนี้สุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อฐานะการคลังและวินัยทางการคลัง เพราะประกันรายได้ข้าวแค่ตัวเดียว ต้องใช้เงินสูงถึง 89,000 ล้านบาท แต่น่าจะสูงทะลุ 1 แสนล้านบาท เนื่องจากราคาข้าว “ตกต่ำ” มาก  
         
แค่คิดก็หวาดเสียวแล้ว
         
เรื่องนี้ “นายจุรินทร์” ยืนยันว่า “จะเดินหน้าต่อ” เพราะเป็นนโยบายรัฐบาล ส่วนเรื่อง “เงิน” เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ที่จะต้องหามา
         
ก่อนหน้านี้ ถูก “นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง” จากค่ายพลังประชารัฐ บอกว่า “โครงการนี้ ไม่ได้ช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้เกษตรกร” มีแต่ “สร้างความอ่อนแอ
         
แต่ก็พร้อมหาเงินมาจ่าย เพราะเป็นนโยบายรัฐบาล ก่อนแขวะเล็ก ๆ ไม่ใช่นโยบายของใครคนใดคนหนึ่ง
         
ส่งสัญญาณ “ติดเบรก” เคลมผลงานประกันรายได้
         
จากนั้น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” พูดในการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.กระบี่ วันที่ 16 พ.ย.2564 ว่า โครงการประกันรายได้ข้าว เป็นประโยชน์ แต่มันก็เป็น “ภาระ” แทนที่จะทำให้ชาวนา “เข้มแข็ง” กลับทำให้ “ไม่เข้มแข็ง” ต้องหาวิธีใหม่ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง
         
ส่วนเรื่องเงิน ยืนยันว่า ก็ต้องหามาให้ ขณะนี้คิดออกแล้ว ขอเวลานิดหนึ่ง ก็จะจ่ายเงินให้ชาวนาตามลำดับ
         
ก่อนปิดท้าย ขอให้ไปตรวจสอบ “การจ่ายเงินประกันรายได้” ชาวนาได้เงินจริงหรือเปล่า มีตกหล่นหรือไม่
         
ต่อมา สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ออกมาระบุว่า มีข่าวชาวนาถูกเรียกเปอร์เซ็นต์จากส่วนต่างเงินประกันรายได้ 2% ซึ่งกำลังตรวจสอบอยู่ ว่า “มีจริง” หรือไม่
         


นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน” ตอบโต้ทันที ว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะเงินส่วนต่างที่จ่ายให้ชาวนา ธ.ก.ส.จะจ่ายตรงเข้าบัญชี
         
หมายความว่า เงินทุกบาท ทุกสตางค์ จะเข้าบัญชีเกษตรกรทั้งหมด “ไม่มีตกหล่น
         
ไม่รู้ว่า “เกิดอะไรขึ้น” กับโครงการประกันรายได้ ทั้งการเมือง ทั้งนายกฯ ทั้งสมาคมชาวนาฯ ที่ออกมา “อีรุงตุงนัง” กันไปหมด
         
ก็ได้แต่หวังว่า การออกมาท้วงติง การออกมาติดเบรกโครงการประกันรายได้ จะทำไปด้วยใจ “โปร่งใส” และทำแบบ “จริงใจ” กันจริง ๆ ไม่ใช่แค่การ “เตะตัดขา” หรือแค่ “ไม่อยากให้ใครได้หน้า” มากเกินไป
         
ส่วนปัญหาเรื่อง “เงินไม่มี” ก็ต้องหาทางแก้ไขกันไป เพราะประกันรายได้ เป็น “นโยบายของรัฐบาล” ไปแล้ว จะมา “เลิกทำ” กลางคันคงไม่ได้
         
แล้วถ้าอยากจะ “จ่ายน้อย” หรือ “ไม่จ่าย” ก็ต้องไปหาทางผลักดัน “ราคาข้าว” ให้สูงขึ้น ดันให้สูงจนทะลุเพดานประกันรายได้ไปเลยก็ “ยิ่งดี”  
         
ตรงนี้ ปัดไม่ได้ว่า ไม่ใช่ “หน้าที่พาณิชย์” เพราะฉะนั้น พาณิชย์ก็ต้องเร่ง “หาตลาด” หาทาง “ผลักดัน” การส่งออกข้าว จะเป็นการขาย “ข้าวจีทูจี” ช่วยเอกชน “ทำตลาด” ช่วยเอกชน “เปิดตลาดใหม่” จะทำรูปแบบไหน อะไร ก็ว่าไป
         
เพื่อให้เป้าหมายสุดท้าย คือ “ราคาข้าวสูงขึ้น
         
เหมือนอย่างที่ตอนนี้ มีพืชเกษตรที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ ที่ไม่ต้องจ่ายชดเชยตั้งหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น “ยางก้อนถ้วย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
         
พวกนี้ ราคาทะลุเพดานประกันรายได้ทั้งนั้น
         
ก็อยากจะเห็น “ข้าว” เป็นตัวต่อไป
         
ช่วยกันแก้ ช่วยกันทำงาน ช่วยกันทำให้ชาวนา มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
         
ดีกว่า มา “เตะตัดขา” กันเอง แล้วเอา “ชาวนา” เป็นตัวประกัน
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด