​เร่งแก้ค่าครองชีพพุ่ง

img

ช่วงนี้ “พาณิชย์” เจองานเข้าถี่ ๆ คนบ่น “ของแพง” รายวัน
         
ผักแพง หมูแพง น้ำมันปาล์มแพง อาหารตามสั่งแพง

เรียกว่า เสียงบ่นของแพง ดังระงมไปทั่ว

แม้กระทั่งตอนแถลงตัวเลข “เงินเฟ้อ” ก็ไม่วายกลายเป็น “ดรามา” หลังจากตัวเลขเดือนต.ค.2564 ขยับพุ่งไปถึง 2.38%
         
คนบอกว่า เงินเฟ้อพุ่ง ทำให้ค่าครองชีพพุ่ง เดือดร้อนกันไปหมด  

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)” ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดทำตัวเลขเงินเฟ้อ ต้องออกมาชี้แจงอย่างเร่งด่วน
         
ยอมรับกันตรง ๆ เงินเฟ้อขยับขึ้นจริง มีสาเหตุหลักมาจากน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เพิ่มสูงขึ้น ตัวนี้เป็น “ตัวหลัก” และ “ตัวหนัก” ที่ดันเงินเฟ้อ   

อีกตัวก็ “ผักสด” ที่แพงขึ้นจริง เพราะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ตอนนี้ ราคาเริ่มปรับลดลงแล้ว หลังจากปริมาณผักเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

ตัวอื่น ๆ ก็มี “น้ำมันปาล์ม” ที่ปรับขึ้นตามราคาผลปาล์มดิบ แต่ก็เป็นผลดีกับเกษตรกรที่ขายได้ราคาดีขึ้น และอาหารบริโภคในบ้าน นอกบ้าน ที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ 

ก่อนสรุปว่า แนวโน้มเงินเฟ้อ “ไม่น่าห่วง” เพราะตอนนี้ มีมาตรการ “ลดค่าครองชีพ” ทั้งของ “รัฐบาล” และของ “พาณิชย์” ที่ทยอยออกมาต่อเนื่อง

อย่างมาตรการลดค่าครองชีพรัฐบาล ที่เป็นตัวฉุดความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้ เช่น โครงการคนละครึ่ง การเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การดูแลราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา
         
ส่วนมาตรการของพาณิชย์ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้สั่งการให้เข้าไปดูแลอย่าง “เร่งด่วน” ตั้งแต่มีข่าว “สินค้าแพง
         


เริ่มจาก “ผักแพง” ได้จัดส่ง “โมบายพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน” Lot 13 จำนวน 50 คัน นำผักสด 17 ชนิดขายราคาส่งทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล วันนี้ยังมีขาย และจะขายไปจนถึงวันที่ 3 ธ.ค.2564
         
แถมพ่วงสินค้าจำเป็น เช่น ข้าวหอมมะลิ ไข่ไก่ น้ำมันปาล์ม และน้ำตาลทราย ราคาถูก ไปขายด้วย
         
ส่วน “ต่างจังหวัด” ให้พาณิชย์จังหวัดพิจารณาตามความเหมาะสม ถ้าจำเป็นก็จัด
         
วันนี้ สถานการณ์ราคาผักสดดีขึ้น ปริมาณเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ราคาก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
         
เสี่ยงบ่น ก็ลดลง
         
แต่พอสถานการณ์ผักดีขึ้น ปัญหา “น้ำมันปาล์มแพง” และ “หมูแพง” ก็เข้ามาแทนที่
         
นายจุรินทร์ ออกมายอมรับแบบแฟร์ ๆ น้ำมันปาล์ม “ราคาสูงขึ้นจริง” จากต้นทุนผลปาล์มของเกษตรกรที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จากเฉลี่ย 2 ปีที่ผ่านมากิโลกรัม (กก.) ละ 2 บาท ตอนนี้ กก.ละ 9 บาท สูงขึ้นกว่า 4 เท่า
         
ส่งผลราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มขวดตกขวดละ 50-55 บาท ถือว่าราคา “ยอมรับได้” เมื่อเทียบกับต้นทุนผลปาล์มดิบ

ทางด้านการดูแลผู้บริโภค ได้ขอให้ “กรมการค้าภายใน” ไปประสานผู้ผลิตให้ตรึงราคาจำหน่ายปัจจุบันไว้ก่อน และขอให้ห้างอย่าปรับขึ้นราคา
         
ตอนนี้ ราคาก็อยู่แถว ๆ 50-55 บาท แล้วแต่การจัดโปรโมชันของห้าง
         
ส่วนพวกที่คอย “ฉวยโอกาส” คอย “เอาเปรียบ” ให้เล่นงานตามกฎหมายเด็ดขาด
         
สำหรับ “เนื้อหมู” นายจุรินทร์ก็ยอมรับแบบแฟร์ ๆ เช่นเดียวกันว่า “ราคาเริ่มขยับขึ้น” เพราะมีปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เลี้ยงสุกร และต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น
         
แต่ราคาในห้างยังไม่ขึ้น ยังขายกันเฉลี่ย กก.ละ 125-130 บาท
         
อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค จะเริ่มจัด “หมูธงฟ้า” จำนวน 400 จุดทั่วประเทศ ขายเนื้อหมูชำแหละไม่เกิน กก.ละ 130 บาท
         


หาซื้อได้ที่หน้ากระทรวงพาณิชย์ (สนามบินน้ำ) หน้าสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงจะหาพื้นที่ ๆ เหมาะสมจำหน่าย และยังมีขายในรถโมบายที่ขายผักถูกที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ด้วย
         
ดีเดย์ เริ่มสัปดาห์นี้
         
ปัญหาต่อมา “อาหารจานด่วน” ที่ราคากำลังขยับขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ นายจุรินทร์สั่งการให้กรมการค้าภายในเข้าไปดูแลแล้ว
         
เบื้องต้น ได้นัดหารือกับห้างสรรพสินค้า ที่บริหารศูนย์อาหาร (ฟู้ดคอร์ด) เพื่อดูแลราคาอาหารจานด่วน และจะร่วมมือกับ “ตลาดสด” และ “ร้านอาหารธงฟ้า” ในเครือข่าย ไม่ขึ้นราคาขาย หรือจัดทำ “เมนูราคาพิเศษ” เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน
         
ส่วนร้านอาหารทั่วไป จะขอความร่วมมือตรึงราคา “อาหารเมนูนิยม” และขอให้มี “เมนูราคาพิเศษ
         
คาดหวังว่า จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในช่วงนี้ไปได้
         
อย่างไรก็ตาม มาตรการลดภาระค่าครองชีพ ไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ นายจุรินทร์ได้สั่งการให้เตรียมการล่วงหน้า สำหรับเทศกาล “ต้อนรับปีใหม่ 2565
         
ให้ไปหารือกับผู้ผลิต ซัปพลายเออร์ ร้านค้าส่งค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีกค้าส่งท้องถิ่น มาร่วมกันจัด “มหกรรมลดราคาสินค้า” เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน
         
รอบนี้ตั้งเป้าจะ “จัดหนัก” เหมือนเดิม ส่วนรายละเอียดใกล้ ๆ ปีใหม่ ถึงจะมีความชัดเจน
         
จากมาตรการที่ “พาณิชย์” ดำเนินการมาทั้งหมด ก็หวังว่า จะประสบความสำเร็จในการ “ลดภาระค่าครองชีพ
         
แล้วการจะวัดว่า “ประสบความสำเร็จ” มากน้อยแค่ไหน ก็ทำได้ไม่ยาก
         
แค่ “เสียงบ่น เสียงด่า” ไม่ดัง หรือมี “ไม่มาก” นั่นแหละ เป็นตัวชี้วัดอย่างดี
         
ก็ขอเอาใจช่วยให้ทำสำเร็จละกัน
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด