​ผลงาน 2 ปี “จุรินทร์”

img

เผลอแป๊บเดียว ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปี ที่ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้เข้ามาบริหารงานที่ “กระทรวงพาณิชย์
         
การทำงานในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ปรากฏผลงาน “มากมายนับไม่ถ้วน
         
มีอะไรบ้าง เดี๋ยวจะสาธยายให้อ่าน
         
เรื่องแรก “โครงการประกันรายได้” ทำสำเร็จมาแล้ว 2 ปี กำลังเข้าสู่ปีที่ 3 มีเกษตรกรได้ประโยชน์ไปแล้ว 7.85 ล้านครัวเรือน เป็นข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน ยางพารา 1.83 ล้านครัวเรือน มันสำปะหลัง 0.52 ล้านครัวเรือน ปาล์มน้ำมัน 0.37 ล้านครัวเรือน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 0.45 ล้านครัวเรือน
         
อีกตัวที่ทำได้ดี ก็คือ “ผลไม้” มีการวางแผนบริหารจัดการล่วงหน้า ช่วยชาวสวนได้ 6.54 แสนครัวเรือน มียอดส่งออก 8 เดือนปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) สูงถึง 169,000 ล้านบาท เพิ่ม 46.29%

พร้อมกับผลักดันนโยบาย “เคาน์เตอร์เทรด” ช่วยเกษตรกรหาตลาด ด้วยการขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้า สร้างมูลค่าการค้ารวม 6,607.76 ล้านบาท เป็นของปี 2563 มูลค่า 3,245.06 ล้านบาท 8 เดือนปี 2564 มูลค่า 3,362.70 ล้านบาท
         
ในด้าน “การส่งออก” ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ได้ตั้ง “กรอ.พาณิชย์” ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ให้เอกชนเป็น “กองหน้า” พาณิชย์เป็น “กองหนุน” สามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก ที่เด่น ๆ ก็แก้ปัญหาโลจิสติกส์การส่งออกผลไม้ แก้ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ผลักดันเปิดด่านการค้าชายแดน สร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทยปลอดโควิด-19 และส่งเสริมการส่งออกเป็นรายสินค้า เช่น ข้าว และอาหาร โดยเน้น “อาหารไทย อาหารโลก
         
ไม่เพียงแค่นั้น ได้มอบเซลส์แมนประเทศทำงานร่วมกับเซลส์แมนจังหวัด ผลักดัน “สินค้าชุมชน” และ “สินค้าท้องถิ่น” ให้มีโอกาสโกอินเตอร์ โดยมีสินค้าจากทุกภูมิภาค ส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศได้แล้วเป็นจำนวนมาก เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมเบอร์รี่ ทุเรียน มะม่วง ส้มโอ กล้วยหอม ซอสปรุงรส น้ำปลา กะทิ น้ำปลาร้า หมูฝอย เครื่องประดับ
         
การบุกตลาดเมืองรอง ได้ขับเคลื่อนด้วย “Mini FTA” มีการลงนาม MOU กับไห่หนาน (จีน) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 12,000 ล้านบาท ภายใน 2 ปี กับโคฟุ (ญี่ปุ่น) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่ต่ำกว่า 15,500 ล้านบาทในปี 2564 และมีแผนที่จะลงนาม MOU กับกานชู (จีน) เตลังคานา (อินเดีย) และคยองกี (เกาหลีใต้) ต่อไป
         


ส่วนการขยายตลาดส่งออกท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ได้ใช้ “ช่องทางออนไลน์” เข้ามาช่วยเสริม มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจในช่วง 2 ปี (25 ก.ค.2562-30 ก.ย.2564) รวม 94,822.17 ล้านบาท เอกชนส่งมอบแล้ว 57,176.63 ล้านบาท คิดเป็น 60.305% , ขายสินค้าผ่าน Thaitrade.com มีมูลค่าสั่งซื้อ 2,322 ล้านบาท , ขายสินค้าผ่านงานแสดงสินค้าและคณะผู้แทนการค้าทั้งในและต่างประเทศ มีผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมกว่า 13,138 ราย สร้างมูลค่าการสั่งซื้อกว่า 161,756 ล้านบาท และจัดส่งเสริมการค้าในรูปแบบใหม่สู่ New Normal ทั้งงานแสดงสินค้าในรูปแบบไฮบริด Mirror Mirror และเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ สร้างรายได้กว่า 158,113 ล้านบาท ส่งเสริมผู้ประกอบการไทย มากกว่า 14,364 ราย  
         
ผลการทำงาน มีตัวเลขยืนยัน ส่งออก 8 เดือนทำได้มูลค่า 176,961.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 15.25% เกินกว่าเป้าเกือบ 4 เท่าตัว (เป้า 4%) ส่วนการค้าชายแดน ทำยอดส่งออกได้มูลค่า 682,184 ล้านบาท เพิ่ม 38.03% เกินกว่าเป้า 6-12 เท่า (เป้า 3-6%)  
         
ด้าน “การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” เป็นประธานประชุมรัฐมนตรีการค้า RCEP 15 ประเทศ ผลักดันให้มีการลงนามได้สำเร็จ โดยจะมีการยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย 39,366 รายการ ลดภาษีเหลือ 0% ทันที 29,891 รายการ คาดว่าเริ่มใช้บังคับม.ค.2565 และมีการเร่งเจรจา FTA ใหม่ 5 ฉบับ กับ EU , EFTA , UK , สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย และอาเซียน-แคนาดา รวมทั้งผลักดันจัดตั้งกองทุน FTA เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการบุกตลาดต่างประเทศ
         
ด้าน “การลดค่าครองชีพ” จัดโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน” รวม 12 Lot เริ่มตั้งแต่ 16 เม.ย.2563 ถึง 31 ก.ค.2564 ช่วยลดภาระค่าครองชีพกว่า 4,300 ล้านบาท และได้จัด “คาราวานธงฟ้าฝ่าภัย COVID-19” ในส่วนภูมิภาค ส่งรถเร่จำนวน 685 คัน จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในราคาประหยัดใน 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง (โควิด-19 ระลอกแรก) ต่อมาส่งรถโมบายพาณิชย์ ลดราคา! ช่วยประชาชน 1,000 คัน ทั่วประเทศ ช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 ระลอก 3 แยกเป็นกรุงเทพฯ 50 คัน ภูมิภาค 76 จังหวัด 950 คัน มีประชาชนมาซื้อสินค้า 1,367,458 คน มูลค่าจำหน่าย 200,339,042 บาท ลดค่าครองชีพรวม 85.85 ล้านบาท
         
ส่วนผลงานอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จ และ “ได้ใจ” ผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่า “มีมากมาย” เช่นเดียวกัน  
         
เริ่มจากโครงการ “จับคู่กู้เงิน” ช่วยร้านอาหารและ SMEs ส่งออก ให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ ช่วยให้กู้ได้ 4,512 ล้านบาท
         
ช่วย SMEs และ Micro SMEs ให้มีความพร้อมค้าขายทั้งในประเทศและส่งออก พัฒนาศักยภาพไปกว่า 86,103 ราย 
         


ช่วย “ซาเล้ง” ยกระดับราคาเศษกระดาษ ด้วยการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบอาชีพซาเล้งและผู้ค้าของเก่า ช่วยประชาชนได้ 1.5 ล้านครัวเรือน
         
สร้าง “สมาร์ทโชวห่วย” กว่า 34,572 ร้านค้า ช่วยให้ “โชวห่วย” ไทยเข้มแข็ง
         
ดัน “แฟรนไชน์สร้างอาชีพ” ตั้งเป้าสร้างอาชีพจากธุรกิจแฟรนไชส์ 10,000 ราย มูลค่าการตลาด 4,600 ล้านบาท
         
สร้าง “นักธุรกิจยุคใหม่” ด้วยการอบรมและพัฒนา มีผู้ผ่านหลักสูตรต่าง ๆ รวม 84,283 ราย
         
ปั้น “CEO Gen Z” อบรมนักศึกษาเป็นผู้ประกอบการออนไลน์และส่งออกกว่า 20,674 ราย  
         
เปิดเช็กราคา “ค่ายา-ค่าบริการ” โรงพยาบาลเอกชน ผ่าน QR Code เพื่อเปิดเผยให้ประชาชนทราบก่อนการรักษา และสร้างความเป็นธรรม
         
ดัน “MOC Online One Stop Service” ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ด้วยระบบออนไลน์ 85 บริการ
         
ดัน “ทุกจังหวัดมีสินค้า GI” ปัจจุบันมีสินค้าขึ้นทะเบียนแล้ว 152 รายการ สร้างมูลค่าในประเทศ 39,000 ล้านบาท
         
ส่งเสริม “ทรัพย์สินทางปัญญา” ด้วยการจัดทำระบบแจ้งเตือน “สิทธิบัตรใกล้หมดอายุ” และลดระยะเวลาจดทะเบียน โดยพิจารณาเครื่องหมายการค้า จาก 12 เดือน เหลือ 6 เดือน ต่ออายุเครื่องหมายการค้า จาก 60 วัน เหลือ 60 นาที และออกหนังสือสำคัญสิทธิบัตร จาก 60 วัน เหลือ 15 วัน
         
ดัน “ดิจิทัลคอนเทนต์” เร่งขยายตลาดทุกช่องทางทั้งในและต่างประเทศ สร้างมูลค่ากว่า 8,852 ล้านบาท
         
ส่งเสริม “ศิลปาชีพ” ของคนไทย เพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ผลิตและชุมชน
         
ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งใน “ผลงาน” ที่นายจุรินทร์ผลักดันในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา
         
แล้วยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังขับเคลื่อนอยู่  
         
กำลังทยอย “ผลิดอก ออกผล
         
บอกได้แค่ว่า “มีอีกเยอะ” เลยละ
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด