​“ส่งออก”พระเอกฟื้นเศรษฐกิจ

img

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” แถลงตัวเลขส่งออก “เดือนส.ค.2564” เมื่อช่วงวันหยุด 24 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา
         
ตัวเลขที่ออกมา “ถือว่าน่าพอใจ” มีอัตราการขยายตัวที่ 8.93%

แต่ต่ำกว่าช่วง 4 เดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวในระดับตัวเลข 2 หลัก คือ เม.ย.บวก 11% พ.ค.บวก 41% มิ.ย.บวก 43% เป็น “ตัวเลขนิวไฮ” และเดือนก.ค.บวก 20%
         
สาเหตุที่ทำให้การส่งออกเดือนส.ค.2564 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง เพราะได้รับผลกระทบจาก “โควิด-19” ทำให้โรงงานบางแห่งปิด หรือปิดบางส่วน เพราะพนักงานติดเชื้อ เลยกระทบต่อการผลิต 
         
ขณะที่ระบบโลจิสติกส์ก็มีปัญหาติดขัด ทั้งการขนส่งข้ามจังหวัดที่ติดล็อกดาวน์ หรือขนส่งข้ามประเทศ ที่ติดความเข้มงวดของประเทศเพื่อนบ้าน
         
หากเทียบกับเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่ง ปรากฏว่า “ไทยดีกว่า” ไม่ติดลบ แต่เวียดนาม “ส่งออกติดลบ” เพราะเจอผลกระทบโควิด-19 เหมือนกัน
         
นายจุรินทร์ บอกว่า “เป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้แล้วว่าตัวเลขเดือนส.ค.2564 จะชะลอตัวลง แต่ก็ยังถือว่าทำได้ดี ยังสามารถฝ่าวิกฤตโควิด-19 มาได้

ทำมูลค่าได้เกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ที่ 21,976.23 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือนก.ค.ย้อนหลัง 5 ปี ที่ทำได้ในระดับ 21,013.80 ล้านเหรียญสหรัฐ
         
ส่วนยอดรวม 8 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 176,961.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.25%

เกินไปกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4% บวกลบคูณหารแล้ว ก็ “เกือบ 4 เท่าตัว
         
ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,191.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 47.92% เจาะลึกลงไป พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า “วัตถุดิบ” สูงถึง 65.73% และ “สินค้าทุน” เพิ่ม 23.82% จะเป็น “ผลดี” ต่อการส่งออกในอนาคต



ด้านยอดรวม 8 เดือน มีมูลค่า 175,554.75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.97% ยังเกินดุลการค้า 1,406.96 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกเดือนส.ค.2564 ที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 23.6% ซึ่งเม็ดเงินตกอยู่ในประเทศแบบ “เต็มเม็ดเต็มหน่วย” เพราะเป็นสินค้าที่ “ผลิตได้ในประเทศ

มีสินค้าเด่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ยางพารา เพิ่ม 98.8% บวกต่อเนื่อง 11 เดือน ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 84.8% บวก 5 เดือนต่อเนื่อง น้ำมันปาล์ม เพิ่ม 51.0% บวก 6 เดือนต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 48.4% บวก 10 เดือนต่อเนื่อง ข้าว เพิ่ม 25.4% กลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และอาหารสัตว์ เพิ่ม 17.3 บวก 24 เดือนต่อเนื่อง

เฉพาะ “ข้าว” เริ่มมองเห็น “สัญญาณดี” เพราะก่อนหน้านี้ ขยายตัว “ติดลบ” มาเดือนส.ค.2564 พลิกกลับมา “บวก” ได้ 25.4%

และยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีก หลัง “ผลผลิต มีเพียงพอ” และ “เงินบาทอ่อนค่า” ทำให้แข่งขันได้ดีขึ้น

คาดว่า ทั้งปี จะส่งออกได้ 6 ล้านตัน จากปัจจุบัน 8 เดือนส่งออกได้แล้ว 3.178 ล้านตัน
         
ทั้งนี้ หากเจาะลึกเฉพาะสินค้าเกษตร บวกสูงถึง 45.5% มีสินค้าที่น่าจับตาอย่าง “เงาะ” ที่ไม่เคยหยิบมาไฮไลต์ บวก 431% “ทุเรียน” บวก 315.48% “ลำไย” บวก 102.67% และ “มังคุด” บวก 44.16%
         
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 3.3% สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่ม เช่น ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 23.5% เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่ม 12.7% เครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่ม 6.3% เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เพิ่ม 40.4% วัสดุก่อสร้าง เพิ่ม 51.9% สิ่งทอ เพิ่ม 9.2% ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่ม 6.5% เคมีภัณฑ์ 45.1% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เพิ่ม 21.8% เป็นต้น
         


ทางด้านตลาดส่งออก ขยายตัวเกือบทุกตลาด เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 16.2% จีน เพิ่ม 32.3% ญี่ปุ่น เพิ่ม 10% อาเซียน เพิ่ม 15.2% สหภาพยุโรป เพิ่ม 16.1% อินเดียเพิ่ม 44.2% ยกเว้น 3 ตลาด ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย ลบ 15.9% สหราชอาณาจักร ลบ 2.7% และ CLMV ลบ 0.03%
         
สำหรับ “แนวโน้มการส่งออก” นายจุรินทร์ ประเมินว่า เดือนก.ย.2564 น่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่ จะมาก จะน้อย ก็ต้องติดตามกันต่อไป
         
ส่วนทั้งปี ยังมั่นใจว่า “ทำได้” เกินเป้าหมาย 4% อย่างแน่นอน
         
จะเป็นตัวเลข 2 หลักตามที่เอกชนประเมินไว้หรือไม่ มองว่า มีโอกาส “เป็นไปได้
         
ประเมิน ณ ตอนนี้ “15% ได้ลุ้น
         
นายจุรินทร์ ย้ำว่า ถ้าส่งออกปี 2564 ขยายตัวเติบโตได้ตามที่คาดเอาไว้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ
         
เพราะก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจไทยเคยพึ่ง 2 ขา โดยขาหนึ่ง คือ “การท่องเที่ยว” อีกขาหนึ่ง คือ “การส่งออก
         
วันนี้ ขาท่องเที่ยว “มีปัญหา” กำลังรอ “ซ่อม” ถ้าซ่อมเสร็จ ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้
         
แต่ในช่วงที่ยังซ่อมไม่เสร็จ ยังดีที่ได้ขาส่งออกมาช่วยค้ำยัน
         
ก่อนโควิด-19 การท่องเที่ยวทำรายได้เข้าประเทศ 11.33% ของจีดีพี การส่งออกประมาณ 45% ของจีดีพี
         
รวมเป็น 66% ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
         
ปัจจุบัน การท่องเที่ยวหดเหลือ 1.87% ส่งออกขยับเพิ่มเป็น 50.83% เอามาบวกกัน ยังได้กว่า 52% ต่อจีดีพี ไม่ถึงกับ “เลวร้าย
         
ส่งออก ยังคงเป็น “ความหวัง” ในการฟื้นเศรษฐกิจ
         
หรือจะบอกเป็น “พระเอก” ตัวจริงในช่วงนี้ ก็ว่าได้
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด