​เอเปกเร่งฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19

img

รัฐมนตรีการค้าเอเปก จาก 21 เขตเศรษฐกิจ จัดการประชุมผ่านทางไกล ระหว่างวันที่ 4-5 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา
         
ฝ่ายไทย มี “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” เป็นหัวหน้าทีมเจรจา
         
มีผู้ร่วมทีมฝ่ายการเมือง เช่น นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ฝ่ายข้าราชการ เช่น นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และคณะเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง
         
กำหนดการประชุม ใช้เวลาเพียงแค่ 2 วัน  
         
แต่สามารถเจรจาตกลงกันได้ในประเด็นสำคัญทุกเรื่อง และปิดการประชุมเมื่อช่วงดึกๆ คืนวันที่ 5 มิ.ย.2564 ตามเวลาประเทศไทย
         
ตลอดระยะเวลาการประชุมในช่วง 2 วันที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ได้ใช้พยายามอย่างเต็มที่ เริ่มตั้งแต่เวทีประชุมกับภาคเอกชนของเอเปก โดยไทยเลือกอยู่กลุ่มที่ 2 ที่เป็นการหารือเรื่อง “การรับมือทางเศรษฐกิจต่อสถานการณ์โควิด-19
         
เพราะมองว่า “เรื่องนี้สำคัญ” และมีผลต่อการ “พลิกฟื้นเศรษฐกิจในภูมิภาค
         
นายจุรินทร์แสดงความคิดเห็นว่า โควิด-19 กระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ ซึ่งไทยได้รับมือด้วยการใช้โมเดลการค้ายุคใหม่ เช่น การค้าออนไลน์ การเจรจาจับคู่ธุรกิจ

และเสนอให้เชื่อมโยงในกลุ่มประเทศเอเปก ซึ่งไทยได้ผ่อนคลายการเดินทางแล้ว จะเริ่มโมเดลการท่องเที่ยว “ภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์” วันที่ 1 ก.ค.2564
         


นอกจากนี้ ต้องไม่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินค้าจำเป็น และวัคซีน
         
ส่วนระยะต่อไป ต้องส่งเสริมการค้าที่ยั่งยืน ใช้ BCG โมเดล ให้เป็นโมเดลทางเศรษฐกิจ เพราะอนาคตอยู่ตรงนี้
         
ทั้งหมดนี้ คือ ประเด็นที่ไทยนำเสนอในเวทีการหารือการรับมือทางเศรษฐกิจต่อสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งได้รับการตอบรับ และเห็นด้วยจากรัฐมนตรีการค้าในเอเปก และภาคเอกชนในเอเปก
         
ส่วนการหารือในระดับรัฐมนตรีการค้า นายจุรินทร์ เดินหน้าเสนอมุมมองของไทยเกี่ยวกับนโยบายการค้าที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในเอเปก
         
1.ห้ามจำกัดการส่งออกสินค้าจำเป็น และไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้า
         
2.อำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของสินค้าจำเป็นและวัคซีน
         
3.ส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีน และสินค้ายา อย่างเท่าเทียม
         
4.สนับสนุนการขนส่งและโลจิสติกส์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
         
5.สนับสนุนการใช้ CL กับวัคซีน เพื่อให้มีการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและรักษาชีวิตทุกคน
         
สำหรับการหารือกับผู้อำนวยการใหญ่ WTO นายจุรินทร์ได้ย้ำอีกครั้งว่า สนับสนุนการยกเว้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับวัคซีนโควิด-19  
         
เพื่อไม่ให้มีปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด ในการเข้าถึงวัคซีนของคนทั้งโลก  
         
พร้อมขอให้การประชุม “รัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 หรือ MC12” จะต้องมีข้อยุติในประเด็นคงค้างให้ได้ เพราะเรื่องเหล่านี้ “ค้างมานาน” แล้ว
         
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การอุดหนุนประมง , การแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ที่ว่างอยู่ , การยกเว้นการฟ้องร้องกรณีเสียหายหรือเสียประโยชน์ , การยกเว้นเก็บภาษีการส่งผ่านอิเล็กทรอนิกส์ , การลดการอุดหนุนในภาคเกษตร , การขับเคลื่อนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการปฏิรูป WTO
         


สุดท้าย ปิดฉากการประชุม
         
รัฐมนตรีการค้าเอเปก ออกแถลงการณ์ร่วม 3 แถลงการณ์ ได้แก่

ฉบับที่ 1 แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าประจำปี 2564 มีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ คือ 1.ใช้การค้าเป็นกลไกสำคัญในการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ 2.สนับสนุนการค้าระบบพหุภาคี และ 3.ร่วมกันผลักดันให้เกิดความมั่งคั่งในเอเปก
         
ฉบับที่ 2 แถลงการณ์เอเปก เรื่องห่วงโซ่อุปทานวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การอำนวยความสะดวกการค้าสินค้าวัคซีนโควิด-19 และสินค้าจำเป็น
         
ฉบับที่ 3 แถลงการณ์เอเปก เรื่องการบริการเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็น เน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้าขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของห่วงโซ่การผลิต
         
จากแถลงการณ์ทั้ง 3 ฉบับ เห็นได้ชัดเจนว่า “ประเด็นส่วนใหญ่ ครอบคลุมในสิ่งที่ไทยผลักดัน
         
ทั้งการห้ามกีดกันส่งออกสินค้าจำเป็น  
         
ทั้งการเข้าถึงวัคซีน
         
ทั้งการขับเคลื่อน WTO
         
งานนี้ ถือว่า “นายจุรินทร์” ทำได้ดี ทำได้เด่น สามารถคุมเกม และชักจูงให้ประเทศสมาชิกเห็นด้วย จนออกเป็นแถลงการณ์เอเปกออกมาได้
         
จากนี้ ก็แค่ “รอผล” รอการ “ฟื้นฟูเศรษฐกิจ” จากพิษโควิด-19
         
โดยเชื่อมั่นว่า “ภูมิภาคเอเปก” จะเป็นภูมิภาคที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วภูมิภาคหนึ่งในโลก
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด