​กองทุน FTA ใกล้เป็นจริง

img

การเปิดเสรีทางการค้า เป็นดาบ 2 คม ด้านหนึ่ง มีผู้ได้ประโยชน์ อีกด้าน ก็มีผู้เสียประโยชน์ แต่ไม่มีใครได้แต่ฝ่ายเดียว หรือเสียแต่ฝ่ายเดียว  
         
แต่สิ่งที่เป็นจริงและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ การค้ายุคปัจจุบัน ใครไม่ร่วมวงเปิดเสรีการค้า ก็จะมีแต่เสียเปรียบ
         
เสียเปรียบที่จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า เสียเปรียบที่จะไม่ได้แต้มต่อ ขณะที่ผู้ร่วมวงเปิดเสรี จะได้สิทธิ์ทุกอย่าง
         
นั่นหมายความว่า ใครที่ร่วมวงเปิดเสรีการค้ามาก ก็มีโอกาสมาก
         
เปรียบให้ดูง่ายๆ ไทยกับเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งกันในหลายๆ ด้าน ไปดูกันว่า ใครมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) มากกว่ากัน  
         
ไทยมี FTA จำนวน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ กำลังมีฉบับที่ 14 คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แต่ก็ยังมี 18 ประเทศเท่าเดิม
         
เวียดนามมี FTA จำนวน 13 ฉบับเท่ากับไทย แต่มีประเทศที่ร่วมวงเปิดเสรีถึง 53 ประเทศ มากกว่าไทย 35 ประเทศ  
         
แค่นี้ ก็พอมองออก ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ ไม่ต้องพูดให้มากความ
         
ที่ผ่านมา การเข้าร่วมวงเปิดเสรีการค้าสำหรับไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าภาคเอกชน จะต้องการมากแค่ไหน บางครั้งก็เดินหน้าได้ยาก เพราะยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบ ที่ไม่เห็นด้วย
         
จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องมาหาจุดกึ่งกลาง หาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ที่ทั้งฝั่งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย พึงพอใจ
         
ปกติการจะเปิดเจรจา FTA ใหม่ หรือการจะเข้าร่วมเจรจา FTA ที่มีอยู่แล้ว ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน   
         
สิ่งหนึ่ง ที่มีการเสนอแนะ และถูกหยิบยกขึ้นมาตลอด ก็คือ “การมีกองทุน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า”
         


ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังกำชับให้เป็นนโยบายสำคัญ ที่จะต้องเร่งผลักดัน
         
โดยได้เซ็นคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (คณะทำงานพัฒนากองทุน FTA) มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน
         
ปี 2563 ตลอดทั้งปี เป็นปีที่คณะทำงานฯ ได้เดินหน้ารับฟังความคิดเห็น หาข้อสรุป หาแนวทางการจัดตั้งกองทุนมาอย่างต่อเนื่อง
         
จนในที่สุด ก็มีความคืบหน้า มีรายละเอียดชัดเจนว่า “จะเดินไปทางไหนต่อ
         
“ขณะนี้ กองทุน FTA มีความคืบหน้า มีความชัดเจนว่าจะช่วยใคร ช่วยยังไง เงินทุนหมุนเวียนจะหามาจากไหน ทุกอย่างกำลังใกล้งวด คาดว่าไม่เกินไตรมาสแรกปีนี้ จะมีข้อสรุป”นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าว
         
นางอรมน บอกว่า กองทุน FTA ที่จะตั้งขึ้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับเตรียมความพร้อม ปรับตัว และช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ให้กับภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) และภาคบริการ
         
หมายความว่า ใครที่ได้รับผลกระทบ สามารถที่จะยื่นขอรับความช่วยเหลือจากกองทุน FTA ได้
         
ส่วนการช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ เงินจ่ายขาด สำหรับการวิจัยพัฒนา การจัดหาที่ปรึกษา การฝึกอบรม กิจกรรมที่สนับสนุนการตลาด และเงินหมุนเวียน เช่น เงินลงทุนในสิ่งก่อสร้าง และค่าเครื่องมืออุปกรณ์
         


การกำกับดูแลกองทุน จะมีหน่วยงานข้อกลางที่เป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตร ภาควิชาการ หรือธนาคารของรัฐในระดับพื้นที่ เป็นตัวกลางสำหรับประสานงานและเสนอคำขอรับความช่วยเหลือไปยังหน่วยบริหารกองทุน FTA ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ อาจจะเป็นกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือกรมการค้าต่างประเทศก็ได้
         
ตอนนี้ ยังไม่ชัดว่าจะเป็นหน่วยงานไหน
         
สำหรับแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในกองทุน FTA ที่แน่ๆ จะขอทุนประเดิมจากรัฐบาลและงบประมาณประจำปี
         
วงเงินที่เหมาะสม ประเมินไว้ว่า “อย่างน้อยต้องมี 1,000 ล้านบาท
         
นอกจากนี้ ต้องมีรายได้เสริม เพื่อเข้ามาเติมกองทุน และเพื่อให้มีเงินเพียงพอในการบริหารอย่างยั่งยืนในการดำเนินงาน
         
ข้อเสนอที่มีตอนนี้ คือ ให้มีการหักรายได้ค่าธรรมเนียมที่หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์จัดเก็บและเป็นค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ โดยขอปันมาส่วนหนึ่ง นำมาเป็นรายได้ของกองทุน ไม่ใช่ส่งให้เป็นรายได้ของรัฐทั้งหมด

แนวทางนี้ “ไม่เป็นภาระให้กับภาคเอกชน” เพราะเป็นรายได้ของรัฐ แค่แบ่งรายได้ของรัฐมาช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น

ความคืบหน้าทั้งหมดนี้ จะถูกนำเสนอให้คณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุน FTA ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานพิจารณา

ถ้าเห็นตามนี้ ก็จะนำเสนอนายจุรินทร์ เพื่อขอความเห็นชอบให้เสนอเรื่องการตั้งกองทุน FTA ต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน

จากนั้น หากคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน เห็นชอบในหลักการ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะนำร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งกองทุน FTA เข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภาตามกระบวนการตรากฎหมายต่อไป
         
ถือว่า ใกล้งวดเข้ามาแล้ว สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า จะมีที่พึ่งแบบถาวร ไม่ใช่มาๆ หายๆ เหมือนเมื่อก่อน  
         
ต้องขอบคุณ รัฐมนตรีจุรินทร์ ที่ผลักดัน และอธิบดีอรมน ที่รับนโยบายไปขับเคลื่อน จนใกล้จะเป็นจริง
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด