​เตรียมใช้ประโยชน์ “อาร์เซ็ป”

img

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป ได้มีการลงนามกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2563 ที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลาเจรจากันมาเกือบ 8 ปี 
         
การลงนามในครั้งนี้ ถือว่าพิเศษกว่าการลงนามความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ฉบับอื่นๆ เพราะเป็นการลงนามผ่านระบบทางไกล โดยรัฐมนตรีของแต่ละประเทศลงนามกันที่ประเทศของตัวเอง มีผู้นำเป็นสักขีพยาน แล้วถ่ายทอดสดให้แต่ละประเทศได้รับรู้ เพราะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางไม่สะดวก
         
การลงนาม มีสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ลงนามร่วมกับคู่เจรจา 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
         
ขาดก็แต่ อินเดีย ที่ขอเอาตัวเองออกไปตั้งแต่การประชุมผู้นำในปี 2562 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และเป็นปีที่สามารถสรุปผลการเจรจากันได้

จนถึงขณะนี้ สมาชิกก็ยังเปิดโอกาสให้อินเดียกลับมาเข้าร่วมความตกลงในฐานะที่เป็นสมาชิกดั้งเดิม และมีบทบาทสำคัญในการเจรจาอาร์เซ็ปมาตั้งแต่ต้น
         
ย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของ “อาร์เซ็ป” อาเซียนได้มีการหารือกันว่า หากต้องการจะรักษาบทบาทการเป็นแกนกลางขับเคลื่อนการบูรณาการเศรษฐกิจของภูมิภาคเข้ากับเศรษฐกิจโลก จะต้องมีเอฟทีเอที่ทันสมัย มีความครอบคลุมการค้า การลงทุนในทุกมิติ มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเชิงลึก เชิงกว้าง และต้องดีกว่าเอฟทีเอที่อาเซียนมีอยู่กับคู่เจรจา
         
ในปี 2556 ผู้นำอาเซียนกับคู่เจรจาเห็นด้วยกับข้อเสนอ จึงได้ประกาศให้มีการเริ่มต้นการเจรจาอาร์เซ็ป
         
ผ่านไป 7 ปี สามารถสรุปผลการเจรจากันได้ในปี 2562 และใช้เวลาอีก 1 ปี ให้สมาชิกได้ขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย และรายละเอียดต่างๆ จนสามารถลงนามกันได้ในที่สุด
         


สำหรับอาร์เซ็ป เป็นเอฟทีเอที่ประกอบไปด้วย 20 บาท ได้แก่ 1.บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป 2.การค้าสินค้า 3.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 4.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 5.สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6.มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง 7.การเยียวยาทางการค้า 8.การค้าบริการ ภาคผนวกบริการการเงิน ภาคผนวกบริการโทรคมนาคม ภาคผนวกบริการวิชาชีพ 9.การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา 10.การลงทุน 11.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ 12.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 13.ทรัพย์สินทางปัญญา 14.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 15.การแข่งขัน 16.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 17.บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน 18.บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น 19.การระงับข้อพิพาท 20.บทบัญญัติสุดท้าย
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า อาร์เซ็ปเป็นความตกลงเอฟทีเอที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน

อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า ตลอดจนมีเรื่องใหม่ ๆ ทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ที่จะช่วยสร้างโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ให้กับธุรกิจในภูมิภาค

ผลจากการลงนามอาร์เซ็ป ที่ไม่มีอินเดีย ยังก่อให้เกิดเอฟทีเอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของประชากรโลก มีมูลค่าจีดีพีกว่า 25.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 29.3% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ากว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 27.4% ของมูลค่าการค้าโลก

โดยไทยค้าขายกับสมาชิกอาร์เซ็ปประมาณ 60% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย มีมูลค่าการส่งออก 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 57% ของการส่งออกทั้งหมด



อาร์เซ็ป ไม่เพียงแต่ช่วยขยายการค้า การลงทุน ยังช่วยลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ประสาน กฎระเบียบและมาตรการทางการค้า ส่งผลให้มีการยอมรับกฎเกณฑ์ด้านมาตรฐานต่างๆ ระหว่างกัน และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคและในโลก

กล่าวคือ จะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์และบันเทิง ประเภทเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิต แอนนิเมชัน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน จะช่วยสร้างโอกาสการส่งออกของไทยในตลาดใหม่ๆ ที่การทำเอฟทีเอระหว่างไทย อาเซียน และสมาชิกอาร์เซ็ปในช่วงที่ผ่านมายังเปิดตลาดไม่มากพอ
         
โดยมีสินค้าที่คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่สมาชิกอาร์เซ็ปเปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทยจากเอฟทีเอที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ญี่ปุ่นจะเปิดตลาดสินค้าประมง ผักผลไม้แปรรูป เคมีภัณฑ์ ให้ไทยเพิ่มขึ้น จีน เปิดตลาดสับปะรดแปรรูป น้ำมะพร้าว และเกาหลีใต้ เปิดตลาดผักผลไม้ แป้ง ขนมปัง

ส่วนไทยจะต้องเปิดตลาดสินค้าในสมาชิกเพิ่มเติมด้วย โดยจะเปิดตลาดเครื่องจักรให้ญี่ปุ่นเพิ่มเติม ส่วนจีน ไทยจะเปิดตลาดเครื่องเพชรพลอยเทียมให้ เป็นต้น 
         
“อาร์เซ็ป” ไม่เพียงแต่เป็นเอฟทีเอแห่งประวัติศาสตร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ยังเป็นเอฟทีเอที่จะช่วยสร้างโอกาสทางด้านการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการของไทย
         
ผู้ประกอบการไทย จะต้องเตรียมตัว เตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ เพราะความตกลงจะมีผลบังคับใช้ หลังจากที่สมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศให้สัตยาบันความตกลง คาดว่าไม่น่าจะเกินปี 2564
         
โอกาสมาแล้ว เตรียมตัวลุยได้เลย
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด