“พาณิชย์”จับมือ 7 หน่วยงาน ลงนาม MOU ต่อยอดงานวิจัยจากหิ้งสู่ตลาดสากล เตรียมผลักดันให้ผู้ประกอบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ไปใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ ก่อนช่วยเหลือ ทั้งการชี้เป้าสินค้าและบริการที่ตลาดต้องการ จัดกิจกรรมจับคู่เพื่อนำงานวิจัยมาผลิต พร้อมพาบุกเจาะตลาดต่างประเทศ ทั้งผ่านการช่วยเหลือโดยทูตพาณิชย์ และการนำเปิดตัวในงานแสดงสินค้า
นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาเชื่อมโยงการค้า การตลาด การวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับ 7 หน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีการคิดค้น มาใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการของผู้ประกอบการของไทย และผลักดันให้มีการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศต่อไป
“นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้นวัตกรรม และขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ และหากผู้ประกอบการมีการพัฒนาสินค้าและบริการด้วยใส่งานวิจัยและนวัตกรรมลงไป ก็จะช่วยให้สินค้าและบริการไทยมีมูลค่าเพิ่ม และเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น”
สำหรับหน่วยงานวิจัย 7 แห่งที่ร่วมลงนาม MOU ได้แก่ 1.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 2.สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) 3.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 4.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช./NIA) 5.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) 6.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ 7.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปีนี้กรมฯ ได้ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมด้านวิจัยและนวัตกรรม 150 ราย โดยจะให้คำแนะนำข้อมูลแนวโน้มและทิศทางความต้องการสินค้าที่ตลาดต้องการ เพื่อเป็นข้อมูลให้นักวิจัย และผู้ประกอบการ ที่จะนำไปใช้ในการผลิตสินค้าและบริการผ่านระบบ DITP business AI และจัดกิจกรรมจับคู่ผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมตามความต้องการ จับคู่กับนักวิจัย เพื่อเลือกซื้อ ใช้ ผลงานวิจัยที่มีอยู่ หรือร่วมกันพัฒนานวัตกรรมที่ตรงตามความต้องการของตลาดโลกร่วมกัน โดยสามารถขอรับทุนจากหน่วยงานพันธมิตรได้
ส่วนการเพิ่มช่องทางการตลาด จะมีเครือข่ายทูตพาณิชย์ 58 แห่งทั่วโลก ที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ และนำเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของกรมฯ เพื่อเปิดตัวออกสู่ตลาด เช่น เข้าร่วมงาน Thaifex ในคูหา Innovation Design Zone หรือนิทรรศการ TIDE (Thailand Innovation & Design Exhibition) รวมทั้งเปิดโอกาสให้เข้าร่วมเจรจาธุรกิจออนไลน์ในช่วงการจัดงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผลงานของหน่วยงานพันธมิตร 7 แห่ง ที่ได้มีการนำงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปช่วยพัฒนา และสามารถผลิตออกมาเป็นสินค้าได้แล้ว เช่น เจลล้างมือป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่ปกป้องยาวนาน 12 ชั่วโมงชนิดแรกในโลก (Besuto12) นวัตกรรมวัสดุปิดแผลชนิดเจล (blu by Novatech) เครื่องฉายแสงกำจัดแบคทีเรียและไวรัสควบคุมด้วย IOT (Maneejun) และนวัตกรรมน้ำผึ้งพร้อมชง (Bee Smile) เป็นต้น
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง