“พาณิชย์”ประเมินส่งออกไทยมีแนวโน้มขยายตัว เหตุตลาดต่างประเทศต้องการซื้อสินค้า และมีคำสั่งซื้อรออยู่ แต่ติดปัญหาเรื่องการขนส่ง มั่นใจหลังเร่งทะลวงแก้ปัญหาการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศสำเร็จ จะทำให้ส่งออกไทยฟื้นตัว และส่งผลดีต่อการส่งออกในอนาคต
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีคำสั่งซื้อสินค้าไทยหลายประเภทรออยู่ที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มที่ตอบรับโจทย์ชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ที่การใช้ชีวิตและการทำงานของคนจะเปลี่ยนไปหลังโควิด-19 เช่น อาหารสำเร็จรูปจะขายดียิ่งขึ้น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สินค้าไอที และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ จะมารองรับการทำงานที่บ้าน แต่ก็ติดปัญหาด้านการขนส่งระหว่างประเทศ ที่หากแก้ไขได้ ก็จะช่วยผลักดันให้การส่งออกไทยในช่วงต่อๆ ไปดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มดีขึ้น ทำให้การขนส่งของไทยทำได้ดีขึ้น และส่งออกได้มากขึ้น
“ตั้งแต่มีการล็อกดาวน์และปิดพรมแดนในประเทศต่างๆ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้กระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมา เพราะติดปัญหาเรื่องการขนส่ง แต่กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนแก้ปัญหามาเป็นระยะ ทั้งการขนส่งทางบก อากาศ และทางเรือ ซึ่งปัญหาหลายๆ จุดได้แก้ไขไปแล้ว และส่วนที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ก็จะเร่งตามแก้ไขต่อไป เพราะหากแก้ได้ จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2563”
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการส่ออกสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้ ได้มีการทำพิธีสารในการเปิดด่านให้สินค้าจากไทยผ่านสปป.ลาวและเวียดนามไปยังจีนได้เพิ่มขึ้น ทางด่านตงซิง เมืองฝากเฉิงก่าง (ทางรถ) และด่านรถไฟผิงเสียง (ทางราง) แต่ยังมีปัญหาเล็กน้อยในเรื่องเที่ยวรถน้อย ส่วนปัญหาการกำกับดูแลพนักงานขับรถบรรทุก ที่เข้มงวดแตกต่างกัน การปิดพรมแดนที่อาจมีเวลาหรือมาตรการไม่เหมือนกัน จะเร่งแก้ไขต่อไป รวมถึงการผลักดันให้จีนเปิดท่าเรือกวนเหล่ยในแม่น้ำโขง ซึ่งจะวิ่งจากเชียงแสน จ.เชียงราย แต่ยังมีปัญหาเรื่องจุดตรวจมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งจะหารือกับจีนเพื่อแก้ไขปัญหา และได้มีหนังสือถึงกงสุลใหญ่ของจีนประจำเชียงใหม่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาผ่อนผันเปิดเส้นทางแล้ว
สำหรับการขนส่งทางอากาศ ที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องประเทศต่างๆ ระงับหรือชะลอการบินเข้าออกประเทศ ทำให้มีเที่ยวบินที่ขนส่งสินค้าลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ราคาค่าขนส่งคาร์โก (Cargo) เพิ่มขึ้น อีกทั้งนักบินยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการกักตัวจึงทำให้เที่ยวบินไม่สะดวกราบรื่น แต่หน่วยงานราชการได้ซักซ้อมความเข้าใจระหว่างกันเรียบร้อยแล้วว่านักบินขนส่งสินค้าสามารถบินเข้าออกได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน หากมีกำหนดตารางเวลาการบินเข้าออกที่ชัดเจน มีเอกสารรับรองการตรวจสุขภาพ และพักอยู่ในสถานที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น ส่วนการขนส่งสินค้าทางเครื่องบินเพิ่มเติม ขณะนี้หลายสายการบิน รวมถึงการบินไทยได้ปรับเครื่องบินโดยสารมาเป็นการขนส่งสินค้าแล้ว แต่มีเส้นทางบินค่อนข้างจำกัดไปยังเมืองที่เป็นฮับ หรือศูนย์กลางการขนส่ง ซึ่งการกระจายสินค้าไปยังเมืองอื่นๆ ต่อ อาจจะต้องใช้รถยนต์ จึงทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่ม แต่ก็ถือว่าช่วยผ่อนคลายปัญหาไปได้บ้าง
ทางด้านการขนส่งทางเรือ เดิมเคยมีปัญหาในช่วงต้นๆ เป็นเรื่องของการดูแลความปลอดเชื้อของตู้ขนส่งคอนเทนเนอร์และเรือเดินสมุทรที่ขนส่งสินค้า เพื่อไม่ให้สินค้าได้รับเชื้อ (Contamination) แต่ในขณะนี้ปัญหาตรงนี้คลี่คลายไปมากแล้ว โดยจุดที่ยังเป็นปัญหา คือ การขนส่งทางเรือมีปริมาณลดลง ค่าระวางแพงขึ้น เพราะตู้ว่าง ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งทางทะเลได้แก้ไขปัญหาโดยลดจำนวนตู้และเที่ยวเรือลง ทำให้ส่งออกได้ แต่ยังน้อย คาดว่าต่อไปน่าจะดีขึ้น ส่วนปัญหาเรื่องเอกสารและการปล่อยของที่ล่าช้าในประเทศคู่ค้า จากมาตรการล็อกดาวน์และทำงานที่บ้าน ทำให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลลดลง จึงใช้เวลาในการเคลียร์สินค้ามากขึ้น และยังมีการรับเอกสารทางการเงินที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศล่าช้าด้วย ซึ่งแนวโน้มน่าจะดีขึ้น หลังหลายประเทศเริ่มผ่อนปรนและกลับมาทำงาน
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง