
“พิชัย”เผยการเจรจา FTA ไทย-EU รอบ 5 มีความคืบหน้าอีกขั้น สรุปเพิ่มได้อีก 2 บท พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และระบบอาหารที่ยั่งยืน พร้อมเริ่มเจรจาการเปิดตลาดการค้าสินค้า และกำหนดแลกเปลี่ยนข้อเสนอการเปิดตลาดการค้าบริการและการลงทุนฉบับแรกต้น มิ.ย.68 ก่อนเจรจารอบ 6 วันที่ 23-27 มิ.ย. ที่ไทย ตั้งเป้าปิดดีลสิ้นปีนี้
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ถึงความคืบหน้าการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) รอบที่ 5 ระหว่างวันที่ 31 มี.ค.–4 เม.ย.2568 ที่ผ่านมา การเจรจามีความคืบหน้าที่ดี เป็นไปในทิศทางบวกและเป็นที่น่าพอใจของทั้งสองฝ่าย โดยสามารถสรุปเพิ่มในหลักการได้อีก 2 บท คือ บทพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Custom Trade Facilitation : CTF) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกันที่จะช่วยให้พิธีการด้านศุลกากรมีประสิทธิภาพและทันสมัย และบทระบบอาหารที่ยั่งยืน (Sustainable Food System : SFS) ซึ่งเป็นเรื่องความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบอาหารให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน รวมถึงการเจรจากลุ่มอื่น ๆ ก็มีความคืบหน้าไปมากเช่นกัน
ทั้งนี้ สองฝ่ายยังได้เริ่มเจรจาการเปิดตลาดการค้าสินค้าระหว่างกันแล้วในรอบนี้ และได้กำหนดการแลกเปลี่ยนข้อเสนอการเปิดตลาดการค้าบริการและการลงทุนฉบับแรกในช่วงต้นเดือน มิ.ย.2568 จึงนับว่าเป็นก้าวสำคัญของการเจรจา พร้อมกับกำหนดงานที่แต่ละกลุ่มจะต้องมีการหารือในระหว่างรอบ ก่อนการเจรจารอบที่ 6 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23–27 มิ.ย.2568 ณ ประเทศไทย เพื่อให้การเจรจารอบต่อไปมีความคืบหน้าให้มากที่สุด
นายพิชัยกล่าวว่า หลังจากการเจรจารอบนี้เสร็จสิ้น นายมารอส เซฟโควิช กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ได้ส่งข้อความมาแสดงความยินดีกับตนที่การเจรจามีความคืบหน้ามาก สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นร่วมกันของทั้งสองฝ่ายในการผลักดันความตกลง FTA ไทย-EU ให้เดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรรมาธิการยุโรปด้านการค้ายังแสดงความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งสรุปผลการเจรจาให้ได้โดยเร็วที่สุด ภายในวันที่ 25 ธ.ค.2568 อันจะเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของทั้งสองฝ่ายในอนาคต
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ของโลกในปัจจุบัน และการประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต่อประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทย ตลอดจนข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการค้าโลกในอนาคต ไทยกับ EU จึงเห็นพ้องกันว่าการเป็นพันธมิตรทางการค้าที่เชื่อถือได้และคาดการณ์ได้เป็นสิ่งจำเป็น และทำให้การเร่งเดินหน้าเจรจา FTA ไทย-EU ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการขยายโอกาสทางการค้าของไทย และการหาตลาดใหม่ในต่างประเทศ โดยให้เร่งรัดสรุปผลการเจรจา FTA ให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อดึงดูดการลงทุนและขยายการค้าของไทยออกสู่ตลาดโลก
ปี 2567 EU เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยการค้าระหว่างกันมีมูลค่ารวม 43,532.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.26% โดยไทยส่งออกไปยัง EU มูลค่ารวม 24,205.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.23% และนำเข้าจาก EU รวมทั้งสิ้น 19,327.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.50% โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 4,877.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง