![img](/uploads/2025/02/67adaa7d74d45.jpg)
“นภินทร”ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ รับทราบผลปราบสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพทางออนไลน์ ก.ย.-ธ.ค.67 จับได้ 2.1 หมื่นคดี ความเสียหาย 1.1 พันล้าน มีทั้งอาหารเสริม อาหาร ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กพ่วง พาวเวอร์แบงก์ พร้อมไฟเขียวตั้งคณะทำงานตรวจสอบสินค้าไร้คุณภาพตามท้องตลาดทั่วประเทศ และรับ 4 ข้อเสนอ ส.อ.ท. นำใช้แก้ปัญหา
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ ครั้งที่ 3/68 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการแก้ปัญหาการนำเข้าสินค้าไร้คุณภาพในระยะสั้น ตั้งแต่เดือนก.ย.-ธ.ค.2567 โดยเฉพาะการนำเข้าผ่านการสั่งซื้อออนไลน์ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าและดำเนินคดีกับผู้นำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานได้ 21,227 คดี ความเสียหาย 1,137 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งอาหารเสริม อาหาร ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กพ่วง พาวเวอร์แบงก์ เป็นต้น ส่วนการดำเนินงานระยะกลาง และยาว ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการเพิ่มความเข้มงวดและความถี่ให้การตรวจสอบให้มากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบสินค้าไม่มีคุณภาพ ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานปราบปรามสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมีร.ต.จักรา ยอดมณี รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และมีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อตรวจสอบทั้งสินนำเข้าไร้มาตรฐาน ที่วางขายในท้องตลาดทั่วไป และตรวจสอบธุรกิจนอมินี ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวทั่วประเทศ เพื่อทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไปโดยเร็ว โดยจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ที่มีรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน คาดจะประชุมราวกลางเดือน มี.ค.นี้ พิจารณาเห็นชอบ
นายนภินทรกล่าวว่า ที่ประชุมยังพิจารณาข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ใน 4 ประเด็น คือ 1.มาตรฐานสินค้าและการดำเนินธุรกิจ ขอให้รัฐเพิ่มความเข้มงวดใช้กฎหมายฉลากสินค้าและมาตรฐานกำกับดูแลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และพิจารณามาตรการสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศ 2.มาตรการทางการค้า ทั้งอำนวยความสะดวกการเข้าถึงมาตรการตอบโต้ทางการค้า และทบทวนอัตราภาษี 3.พิธีการศุลกากรและช่องทางการนำเข้า ขอให้เข้มงวดกับการกำกับดูแลสินค้านำเข้า และ 4.ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ โดยพิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพิ่มแต้มต่อจัดซื้อจัดจ้าง และขยายตลาด ซึ่งจะนำข้อเสนอดังกล่าวให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาผลักดันในด้านต่าง ๆ และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการให้เข้มงวดมากขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ ได้พิจารณาข้อเสนอเพิ่มเติมของภาคเอกชน ที่ให้ติดฉลากเสื้อผ้าเด็ก ทั้งสินค้าในประเทศและสินค้านำเข้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เพราะมีความเสี่ยงด้านการสวมใส่เสื้อผ้าที่อาจระคายเคืองได้ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วย และขอแจ้งให้ผู้ประกอบการไทยติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดถึงแนวทางการปรับตัว เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางดำเนินการ โดยคำนึงถึงผู้บริโภคและผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยเป็นสำคัญ
ขณะเดียวกัน ได้เห็นชอบแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ เพื่อร่วมกันกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ถูกต้องต่อไปด้วย
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง