​“พิชัย”ชวนบริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ เพิ่มลงทุนไทย ชูนโยบายเอื้อ โครงสร้างพื้นฐานพร้อม

img

“พิชัย”หารือสภาหอการค้าสหรัฐฯ (USCC) สภาธุรกิจสหรัฐฯ–อาเซียน (USABC) และบริษัทยักษ์ใหญ่ 26 บริษัท ชวนเพิ่มการลงทุนในไทย ชูจุดแข็งมีนโยบายเอื้อต่อการลงทุน มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม เอื้ออุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทั้ง Data Center และ AI

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือกับภาคเอกชนชั้นนำของสหรัฐฯ ประกอบด้วยคณะนักธุรกิจจากสภาหอการค้าสหรัฐฯ (US Chamber of Commerce - USCC) และสภาธุรกิจสหรัฐฯ–อาเซียน (US-ASEAN Business Council - USABC) และบริษัทยักษ์ใหญ่ 26 บริษัท ณ สำนักงาน U.S. Chamber of Commerce กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2568 ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ว่า ได้หารือกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ตามนโยบายของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งขยายการค้าและการลงทุนของไทย โดยได้ยืนยันว่าไทยในฐานะพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก มีจุดแข็งที่เอื้อต่อการลงทุน อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรม Data Center และ AI ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น Google, Microsoft และ Amazon เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว
         
ทั้งนี้ ได้เชิญชวนให้บริษัทสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น เช่น เวชภัณฑ์ พลังงาน ดิจิทัล และเกษตรอาหาร โดยอาศัยข้อได้เปรียบจากข้อตกลง Treaty of Amity ที่ไทยให้สิทธิพิเศษแก่ธุรกิจสหรัฐฯ สามารถถือหุ้น 100% ในไทย ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ไทยไม่เคยมีให้กับประเทศอื่น โดยบริษัทสหรัฐฯ เช่น Pepsi , Tyson Food , Apple และ Cargill แจ้งว่าต่างมีความต้องการขยายการลงทุนกับไทย เพราะไทยเป็นหุ้นส่วนที่ดี
         
ขณะเดียวกัน ได้แจ้งกับนักลงทุนสหรัฐฯ ว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-เอฟตา (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ที่มีสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตล์) และยังมีแผนที่จะทำ FTA กับอีกหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีสมาชิกอีกกว่า 27 ประเทศ ซึ่งจะเร่งรัดทำให้สำเร็จภายในปีนี้ และเป็นโอกาสดีของนักลงทุน ที่จะเข้ามาลงทุนในไทยและใช้ประโยชน์จาก FTA ที่จะมีเพิ่มขึ้น
         


“ได้เน้นย้ำถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2567 ไทยมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ากว่า 1.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี การส่งออกโต 5.4 % และยังมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลาง Data Center , AI และอุตสาหกรรมอาหาร จึงขอเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยภาคเอกชนสหรัฐฯ บอกว่าไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญ และเป็นฐานการผลิตที่ดีในภูมิภาค พร้อมที่จะเพิ่มการลงทุน แต่ก็ต้องจับตานโยบายการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าจะเป็นยังไงต่อไป”นายพิชัยกล่าว
         
สำหรับ 26 บริษัทสหรัฐฯ ที่ได้เข้าหารือในครั้งนี้ ได้แก่ Nasdaq , FedEx , The Asia Group , PepsiCo , IBM , Mars , Citi , Organin , Intel , Vriens & Partners , ConocoPhillips , Caterpillar , Seagate , Tyson Food , Apple , DGA-Albright , Stonebridge Group , BowerGroupAsia , S&P Global , Visa , Boeing , Dow , Cargill , 3M และ Viatris

ในปี 2567 สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย รองจากจีน มีมูลค่าการค้ารวม 74,484.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 54,956.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณี รถยนต์ และเครื่องปรับอากาศ และไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 19,528.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ เครื่องจักรกล และเคมีภัณฑ์

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง