“นภินทร” เปิดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2024 ยันรัฐบาลพร้อมอุตสาหกรรมเต็มที่ เหตุมี MSME อยู่เป็นจำนวนมาก เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคที่สำคัญ มั่นใจสามารถดัน จ.จันทบุรี เป็นนครอัญมณีโลกได้แน่ เหตุมีความพร้อมทุกด้าน ทั้งการเผา การเจียระไน เป็นแหล่งซื้อขาย ส่วนการจัดงาน คาดสะพัด 100 ล้านบาท
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้จัดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2024 ซึ่งเป็นการจัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ภายใต้แนวคิด “จันทบุรี นครอัญมณี” “Chanthaburi City of Gems” ระหว่างวันที่ 5-9 ธ.ค.2567 ณ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่จะผลักดันให้ จ.จันทบุรี เป็นนครอัญมณี ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสู่ภูมิภาค สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับที่เป็น MSME ในจังหวัดที่มีอยู่เป็นจำนวนมากถึง 11,990 ราย คิดเป็น 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งหมด และต้องการเพิ่มสัดส่วนจีดีพีของ SME ให้ได้ถึง 40% ซึ่งธุรกิจการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ก็เป็นหนึ่งใน SME เป้าหมายที่จะผลักดัน
ทั้งนี้ การผลักดันให้ จ.จันทบุรี เป็นนครอัญมณี มีความพร้อมครบทุกด้าน มีทั้งผู้เชี่ยวชาญ เริ่มตั้งแต่การเผา การเจียระไน โดยการใช้แรงงานฝีมือดี ประกอบกับมีนักออกแบบที่ได้รับรางวัลระดับโลก ถือว่าจันทบุรีมีความพร้อมในทุก ๆ ด้านเกี่ยวกับการผลิตอัญมณีที่มีคุณภาพ ซึ่งในอดีตจังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งของบ่อพลอยจำนวนมาก ทุกวันนี้แม้วัตถุดิบจะลดน้อยลง แต่ไทยอาศัยการนำเข้าอัญมณี นำพลอยก้อนเข้ามา มีศูนย์รวมอยู่ที่ จ.จันทบุรี ให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้ามาเลือกซื้อ มาเลือกช่างเจียระไน ช่างออกแบบที่ จ.จันทบุรี เพื่อให้มีศูนย์รวมของตลาดนัดพลอยและแรงงานฝีมือ
“สิ่งเหล่านี้ ทำให้ จ.จันทบุรี มีความพร้อมเป็นนครอัญมณีได้ แต่ทั้งหมดนี้ จะต้องมีการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการสมาคมต่าง ๆ เพื่อเติมความพร้อม ความสมบูรณ์ ให้กับ จ.จันทบุรี เป็นนครอัญมณีโดยสมบูรณ์อย่างแท้จริง”นายนภินทรกล่าว
สำหรับงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี มีกำหนดจัด 3 จุด ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี อาคารเคพีจิวเวลรี่ เซ็นเตอร์ และตลาดพลอยถนนศรีจันทร์ ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยไฮไลต์ที่สำคัญในปีนี้ คือ โซนการจัดแสดงนวัตกรรม ตู้แสงและโคมไฟ LED สำหรับจัดระดับสีอัญมณี การจัดแสดงนิทรรศการเครื่องประดับ งานประกวดระดับโลก และนิทรรศการในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการในภูมิภาค Gems Treasure รวมไปถึงการนำเสนอผลงานวิจัยด้านอัญมณีและเครื่องประดับจากสถาบันอัญมณีฯ และคณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา และกิจกรรม Work Shop โดยสถาบันการศึกษา และการจัดแสดงกิจกรรมสาธิตการแกะแว็กด้วยมือ และการชุบ ขัดล้างเครื่องประดับฟรี โดยสมาคมช่างทองไทย ทั้งนี้ คาดว่า ตลอดการจัดงาน 5 วันนี้ จะมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
ข้อมูลการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วง 9 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) 7,053.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.15% หากรวมทองคำ มูลค่า 12,448.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.85% โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย สินค้าสำคัญของไทยที่เติบโตได้ดี คือ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ดังนั้น อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และถือเป็นอุตสาหกรรมที่นำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมากด้วย
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง