กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแจ้งความคืบหน้าการตรวจสอบนอมินี ปี 67 จำนวน 2.6 หมื่นราย พบต้องตรวจเข้มข้น 498 ราย ยุติเรื่อง 371 ราย เจอ 64 ราย กระทำผิดเกี่ยวกับบัญชี ส่งสรรพากรตรวจสอบแล้ว เหลือ 63 ราย มี 4 ราย ที่เจอเข้าข่ายเป็นนอมินี ส่งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจัดการต่อ พร้อมตรวจธุรกิจอื่น ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ คลังสินค้า โลจิสติกส์ ค้าเหล็ก ก่อสร้าง หลังประชาชน ผู้ประกอบการร้องเรียน เริ่มเจอเสี่ยงเป็นนอมินี
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) เพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ว่า จากการตรวจสอบธุรกิจที่มีความเสี่ยงเป็นนอมินีในปีงบประมาณ 2567 รวมทั้งสิ้น 26,019 ราย ใน 4 ธุรกิจ คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจค้าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต และธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่ง ซึ่งอยู่ใน 6 จังหวัด เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ ล่าสุดได้คัดกรองตรวจสอบอย่างเข้มข้นเหลือ 498 ราย โดยใน 498 ราย ได้ยุติเรื่องไปแล้ว 371 ราย เพราะไม่พบความเสี่ยง ส่วนอีก 64 ราย ได้แจ้งข้อกล่าวหากระทำผิดเกี่ยวกับบัญชี ซึ่งได้ส่งเรื่องต่อให้กรมสรรพากรดำเนินการต่อแล้ว และอยู่ระหว่างตรวจสอบอีก 63 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ พบว่ามี 4 ราย ที่ต้องสงสัยว่าอาจเข้าข่ายเป็นนอมินี อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและจะส่งต่อให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายขยายผลการตรวจสอบต่อไป
“นิติบุคคล 64 ราย ที่แจ้งข้อกล่าวหากระทำผิดเกี่ยวกับบัญชีนั้น จากการตรวจสอบ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำบัญชี จึงส่งหนังสือให้มาชี้แจงข้อมูล แต่บริษัทนิ่งเฉย จึงแจ้งข้อกล่าวหาตามกฎหมายบัญชีเพิ่มเติม และส่งเรื่องต่อให้กรมสรรพากรดำเนินการต่อด้วย ส่วนอีก 63 ราย ที่เข้าข่ายการกระทำผิดนอมินี พบว่า มี 4 ราย ที่เข้าข่าย จึงได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานอื่นตามกฎหมาย ขยายผลการตรวจสอบแล้ว และที่เหลือจะตรวจสอบต่อไป”
ทั้งนี้ การตรวจสอบนอมินีของกรม ดำเนินการได้ตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว สามารถให้นิติบุคคลส่งเอกสารหลักฐาน หรือเข้าไปตรวจสอบสำนักงานในเวลาทำการ และดูสัดส่วนการถือหุ้นเป็นบริษัทไทยหรือต่างชาติ ส่วนการตรวจสอบเรื่องอื่น ๆ ต้องอาศัยความร่วมมือและกฎหมายของหน่วยงานอื่น ทั้งตำรวจ ปปง. ดีเอสไอ กรุงเทพมหานคร แรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และท่องเที่ยว เป็นต้น ที่จะมาช่วยกันตรวจสอบ
นางอรมนกล่าวว่า กรมยังได้เพิ่มการตรวจสอบในธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติม หลังจากประชาชน ผู้ประกอบการ ได้ร้องเรียนกรณีมีสินค้าจากต่างประเทศราคาถูก ไร้มาตรฐานเข้ามาในไทย และยังมีธุรกิจของต่างชาติที่เข้าข่ายไม่ดำเนินการตามกฎหมายไทยอีก ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มออนไลน์ ธุรกิจโกดังสินค้า ธุรกิจโลจิสติกส์และการขนส่ง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าเหล็ก ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับกรุงเทมหานคร (กทม.) แล้ว เช่น ห้วยขวาง สำเพ็ง และพบว่า บางรายมีข้อสงสัยว่าอาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือเป็นนอมินี ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเชิงลึก สำหรับกรณีนอมินี จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสน ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง