​“พาณิชย์”รับฟังความเห็นรัฐ-เอกชน ทำแผนปฏิบัติการ “การค้าสินค้าอุตสาหกรรม”

img

สนค.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 30 หน่วยงาน จัดทำร่างแผนปฏิบัติการเรื่อง การค้าสินค้าอุตสาหกรรม ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติ พ.ศ.2568–2570 เคาะ 4 ประเด็นขับเคลื่อนสำคัญ ยกระดับสินค้าให้สอดคล้องความต้องการของตลาด พัฒนาระบบนิเวศ เสริมทักษะแรงงาน และสร้างภูมิคุ้มกันรับกติกาโลก เตรียมปรับปรุงแผนให้สมบูรณ์ เปิดรับฟังความเห็น ก่อนเสนอสภาพัฒน์ เสนอ ครม. พิจารณา

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้จัดการประชุมรับฟังความเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการเรื่อง การค้าสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ประเด็นสำคัญ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติ พ.ศ.2568–2570 โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้การค้าสินค้าอุตสาหกรรมของไทยเติบโต จำนวนกว่า 30 หน่วยงาน มาร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแผนในการขับเคลื่อนการค้าสินค้าอุตสาหกรรมของไทย  

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรม มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มูลค่า GDP ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30.43 ของ GDP ไทย และสินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทย ยังเป็นสินค้าอุตสาหกรรมทั้งสิ้น โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 130,601.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.81 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย

นายพูนพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของแผนปฏิบัติการเรื่อง การค้าสินค้าอุตสาหกรรม ใน 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.ยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมให้สอดรับกับความต้องการตลาด โดยมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอุตสาหกรรมเดิม และส่งเสริมการเติบโตสินค้าอุตสาหกรรมใหม่ ด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด การแสวงหาวัตถุดิบที่หลากหลายจากทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมไทยให้มีมาตรฐานระดับสากล รักษาฐานตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่ พร้อมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ



2.พัฒนาระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน โดยสนับสนุนความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการและลดทอนอุปสรรคทางการค้า อาทิ ส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมและส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศสีเขียวภายในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม สร้างโอกาสและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ขยายการเจรจาและส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ จากความตกลงและความร่วมมือทางการค้า รวมถึงการทบทวนข้อกฎหมายหรือกฎระเบียบ เพื่อลดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ

3.เร่งเสริมทักษะแรงงาน ทั้งการสนับสนุนการสร้างแรงงานใหม่ (New skill) และการส่งเสริมทักษะแรงงานเดิม (Reskill & Upskill) อาทิ ยกระดับทักษะ สมรรถนะ และศักยภาพของแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน พัฒนาหลักสูตรของสถาบันการศึกษาให้สามารถสร้างบุคลากรใหม่ที่มีศักยภาพและตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น และการดึงดูดแรงงานต่างชาติ ที่มีทักษะให้เข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น

4.สร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม และมุ่งสร้างความสามารถในการปรับตัว อาทิ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่การทำธุรกิจฐานนวัตกรรม และการผลิตผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูง จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์อุตสาหกรรม พัฒนาและจัดการฐานข้อมูล รวมถึงพัฒนาระบบเฝ้าระวัง/เตือนภัยภาคอุตสาหกรรม
         
“การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญเพื่อให้เกิดแนวทางการขับเคลื่อนที่จะผลักดันการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างเป็นระบบตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงมุ่งส่งเสริมและสร้างเกราะป้องกันอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดย สนค. จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับไปพัฒนาและปรับปรุงแผนดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ก่อนนำไปรับฟังความเห็นในวงกว้างกลางเดือน ก.ย.2567 และจะเสนอแผนดังกล่าวต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบและประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป”นายพูนพงษ์กล่าว

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง