สนค.จับตาสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของโลก พบผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารรายสำคัญ ทั้งจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย เพิ่มมาตรการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ลดการนำเข้า แนะไทยเกาะติด วางกลยุทธ์รับมือ ทั้งการผลิตและการค้า เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ และยังคงเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้เพิ่มขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การความมั่นคงทางอาหารของโลก พบว่า ประเทศที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารรายสำคัญของไทย ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ล้วนมีมาตรการความมั่นคงทางอาหารในทิศทางเดียวกัน คือ การพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ลดการนำเข้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร และสนับสนุนการจ้างงานในประเทศ ซึ่งไทยจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ไทยสามารถปรับกลยุทธ์ทั้งด้านการผลิตและการค้าให้สอดคล้องสถานการณ์ของโลก ตลอดจนนำแนวทางการปฏิบัติที่ดีของประเทศต่าง ๆ ในการกำหนดนโยบายและมาตรการด้านความมั่นคงทางอาหารมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับไทย โดยกำหนดแผนพัฒนาระบบเกษตรและอาหารให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
“ปัจจุบันประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารรายสำคัญของไทย ได้วางแผนสร้างความมั่นคงทางอาหารไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งลดนำเข้า หันพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ไทยจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และปรับกลยุทธ์การผลิตและการค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศ ผลิตอาหารที่มีคุณภาพ และขับเคลื่อนการค้า การส่งออกให้เติบโตได้ต่อไป”นายพูนพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของจีน ได้ออกกฎหมายความมั่นคงด้านอาหาร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2567 กำหนดให้กระบวนการและขั้นตอนการผลิตอาหารต้องดำเนินการและพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด และยังมุ่งพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตธัญพืชในประเทศ และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ สหรัฐฯ มีเป้าหมายสร้างความมั่นคงด้านอาหารที่ยั่งยืน เพื่ออนาคตที่ดีของประชาชน ลดความยากจน ลดความหิวโหย และภาวะขาดแคลนอาหารในทุกสถานการณ์ ญี่ปุ่น มีนโยบายเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในประเทศ ลดพึ่งพาการนำเข้า และผลักดันให้มีการผลิตข้าวสาลี ถั่วเหลือง ธัญพืชอาหารสัตว์ หญ้าแห้ง และปุ๋ยภายในประเทศเพิ่มขึ้น และมาเลเซีย มีนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหาร เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนและยืดหยุ่นในภาคเกษตรกรรม ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
สำหรับสถานการณ์การนำเข้าสินค้าธัญพืชของ พบว่า ในปี 2566 โลกนำเข้าธัญพืช 176,156.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.4% สินค้าธัญพืชที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.ข้าวสาลีและเมสลิน มีสัดส่วน 37.1% ของมูลค่าการนำเข้าธัญพืชของโลก 2.ข้าวโพด สัดส่วน 34.7% 3.ข้าว สัดส่วน 18.8% 4.ข้าวบาร์เลย์ สัดส่วน 6.5% และ 5.ข้าวฟ่าง สัดส่วน 1.3%
โดยประเทศผู้นำเข้าธัญพืชรายใหญ่ ได้แก่ จีน นำเข้า 20,544.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 6% เป็นผู้นำเข้าอันดับหนึ่งของโลก มีสัดส่วน 11.7% ของการนำเข้าธัญพืชของโลก นำเข้าจากบราซิลมากที่สุด รองลงมา คือ สหรัฐฯ สัดส่วน 19.7% และ 18.5% และนำเข้าจากไทย สัดส่วน 1.5% สหรัฐฯ นำเข้า 3,588.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 7% อันดับ 14 ของโลก สัดส่วน 2% นำเข้าจากแคนาดามากที่สุด สัดส่วน 47.9% และนำเข้าจากไทยอันดับ 2 สัดส่วน 20.4% ญี่ปุ่น นำเข้า 8,149.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 16% อันดับ 3 ของโลก รองจากจีน และเม็กซิโก มีสัดส่วน 4.6% นำเข้าจากสหรัฐฯ มากที่สุด สัดส่วน 43.2% และนำเข้าจากไทย สัดส่วน 2.4% มาเลเซีย นำเข้า 2,529.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2% อันดับ 20 ของโลก สัดส่วน 1.4% นำเข้าจากอาร์เจนตินามากที่สุด สัดส่วน 29.4% และนำเข้าจากไทย สัดส่วน 8.4%
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการส่งออกข้าว ซึ่งเป็นสินค้าธัญพืชส่งออกที่สำคัญของไทย ในปี 2566 ไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย มีมูลค่าการส่งออก 5,144.44 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.33% ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ อิรัก และจีน มีสัดส่วน 14.2% 12.3% 8.9% 8.2% และ 6% ของมูลค่าการส่งออกข้าวของไทยตามลำดับ โดยไทยส่งออกข้าวไป 5 ประเทศดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วน 50% หรือครึ่งหนึ่งของการส่งออกข้าวไทยไปตลาดโลก และในช่วง 5 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกข้าวแล้วมูลค่า 2,659.53 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปริมาณ 4.06 ล้านตัน) เพิ่มขึ้น 39.71%
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง