​“พาณิชย์”เชิญผู้แทนสถานทูต หน่วยงานระหว่างประเทศ ชี้แจงการปฏิบัติตามกฎหมายต่างด้าว

img

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เชิญผู้แทนสถานทูต หน่วยงานระหว่างประเทศ และหน่วยงานภาครัฐ รวม 19 หน่วยงาน ชี้แจง ทำความเข้าใจ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 หลังมีข่าว นักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจโดยเลี่ยงกฎหมาย ใช้คนไทยเป็นนอมินี หวังให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ประกอบธุรกิจได้ถูกต้อง และไม่ทำผิดกฎหมาย พร้อมอัปเดตระบบ e-Foreign Business ที่จะช่วยอำนวยความสะดวก ดีเดย์เปิดบริการ ก.ค.นี้ และการทบทวนธุรกิจแนบท้าย พ.ร.บ. ที่จะปลดออกอีก 10 ธุรกิจ  
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา กรมได้จัดประชุมเรื่อง “Thailand’s Foreign Business Act , Update on Revision and Introduction of e-Foreign Business Service” โดยเชิญผู้แทนจากสถานทูตต่าง ๆ หน่วยงานระหว่างประเทศ และหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 19 หน่วยงาน 36 คน อาทิ สถานทูตออสเตรเลีย สถานทูตอังกฤษ EU สถานทูตจีน สถานทูตญี่ปุ่น Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand (JFCCT) , Japan External Trade Organization (JETRO Bangkok) ,  Korea Trade-Investment Promotion Agency (KORTA Bangkok) , European Association for Business and Commerce (EABC) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น เพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 กระบวนการในการขอรับใบอนุญาต หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตลอดจนการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของกฎหมาย และสร้างความเข้าใจในกฎหมาย รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้การกำกับของกฎหมายฉบับดังกล่าว
         
ทั้งนี้ กรมได้ชี้แจงว่า พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายสำคัญที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติ ตั้งแต่กระบวนการจัดตั้งบริษัท กำหนดประเภทธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับของกฎหมาย กระบวนการในการขอใบอนุญาต หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจ ตลอดจนการกำกับดูแลให้นักลงทุนต่างชาติปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย
         


“ปัจจุบันมีข่าวว่า นักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจ โดยอาจจะปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง หรือยังไม่เข้าใจในเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ตามกฎหมายของไทย กล่าวคือ การที่นักลงทุนต่างชาติประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยใช้คนไทยถือหุ้นแทน (นอมินี) การเชิญหน่วยงานเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ได้พยายามสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อประกอบธุรกิจได้อย่างถูกต้อง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติให้เข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างครอบคลุม กว้างขวางมากขึ้น และหวังว่าผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ จะได้เผยแพร่และทำความเข้าใจกับนักลงทุนประเทศตนเองให้มีการประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างมีธรรมาภิบาลต่อไป”นางอรมนกล่าว
         
นางอรมนกล่าวว่า กรมได้ชี้แจงอีกว่าให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติ โดยเตรียมเปิดให้บริการออนไลน์ระบบใหม่ e-Foreign Business คือ ระบบการยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งพร้อมให้บริการได้เต็มรูปแบบในเดือน ก.ค.2567 เป็นการให้บริการด้านอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร ได้แก่ การยื่นคำขอรับใบอนุญาต หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวผ่านช่องทางออนไลน์ การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) การออกใบอนุญาต หนังสือรับรองแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Foreign Business License/e-Foreign Certificate) โดยผู้รับบริการสามารถดาวน์โหลดใบอนุญาต หนังสือรับรองผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที และมั่นใจว่าระบบ e-Foreign Business จะช่วยลดปริมาณเอกสาร ลดระยะเวลา และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ผู้รับบริการได้เป็นอย่างดี เป็นการเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุนอีกทางหนึ่ง
         
นอกจากนี้ กรมจะมีการทบทวน ปรับปรุงประเภทธุรกิจตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ. เป็นประจำทุกปี เมื่อธุรกิจใดที่ถอดออกจากบัญชีท้าย พ.ร.บ. แล้ว นักลงทุนต่างชาติก็ไม่ต้องยื่นขออนุญาตในธุรกิจนั้น ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งได้แจ้งข้อมูลความคืบหน้าการทบทวนประเภทธุรกิจตามบัญชีท้าย พ.ร.บ. จำนวน 10 ธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการสรุปร่างกฎกระทรวงกำหนดธุรกิจที่ไม่ต้องขออนุญาต และร่างพระราชกฤษฎีกาแก้ไขถ้อยคำของธุรกิจ ที่ผ่านการรับฟังความเห็นไปแล้ว เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง