กรมการค้าต่างประเทศ ดันค้าชายแดน เร่งส่งออกข้าว-มัน แก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

img

กรมการค้าต่างประเทศ เปิดนโยบายทำงานก้าวสู่ปีที่ 83 ลุยแก้ปัญหาอุปสรรคการค้าชายแดน ผลักดันส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าว มันสำปะหลัง เปิดทางผู้ส่งออกรายเล็ก ได้สิทธิ์ส่งออกข้าวจีทูจี เดินหน้าสร้างความเป็นธรรมทางการค้า ปรับปรุงงานบริการโดยใช้นวัตกรรมดิจิทัล และปรับปรุงกฎ ระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า   
         
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานจัดงานครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา 82 ปี กรมการค้าต่างประเทศ ว่า กรมได้รับนโยบายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงรุก เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการของไทย โดยในด้านการค้าชายแดน มีแผนที่ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิดในทุกด้านที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า ติดตามผลการเจรจาขยายระยะเวลาเปิด-ปิดด่านที่เป็นช่องทางส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ผลักดันจัดตั้งศูนย์บริการค้าชายแดนแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว หรือ OSS (One Stop Service) เพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกส่งออก และจัดมหกรรมการค้าชายแดน ณ จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ในจังหวัดชายแดน
         
“ตอนนี้ด่านการค้าชายแดน เปิดเกือบหมดแล้ว ล่าสุดเปิด 86 ด่าน จากทั้งหมด 95 ด่าน และจะผลักดันให้มีการยกระดับด่านการค้าที่เป็นจุดผ่อนปรน เป็นด่านถาวรต่อไป ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง และหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้งต้องติดตามปัญหาในเมียนมา ที่จะกระทบการค้า และต้องเร่งแก้ปัญหาในเรื่องการขนส่ง ที่เมียนมา ไม่อนุญาตให้รถบรรทุกขนาดใหญ่เข้ามาไทย แก้เรื่องการออกใบอนุญาต และเรื่องภาษีแต่ละด่านที่ไม่เท่ากัน ส่วนกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ยังไม่พบปัญหา แต่ก็จะติดตามใกล้ชิดต่อไป”
         
นายรณรงค์กล่าวว่า การผลักดันสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าว มันสำปะหลัง และสินค้าเกษตรนวัตกรรม จะเดินหน้าสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ การจัดคณะผู้แทนเยือนประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่น และผลักดันการส่งออก เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME และรายเล็ก อย่างข้าวจีทูจี ที่หาตลาดได้มา ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกทุกราย ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก มีโอกาสในการส่งออก ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นรายใหญ่เท่านั้น
         


นอกจากนี้ จะเร่งสร้างความเป็นธรรมทางการค้า โดยการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ส่งออกสินค้าไทยในการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า ได้แก่ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) และมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AC) อย่างตรงไปตรงมา ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ และต้องยึดหลักโปร่งใส เท่าเทียม
         
ขณะเดียวกัน จะเร่งพัฒนาระบบให้บริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัล เช่น ระบบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้านการส่งออกสินค้ามาตรฐาน หรือระบบ OCS Connect ระบบการให้บริการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการส่งออก–นำเข้าสินค้าด้วยนวัตกรรมดิจิทัล หรือ ระบบ DFT Smart Licensing และระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ DFT Smart C/O อย่างครบวงจร และจะส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า สร้างการรับรู้ด้านกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ
         
ส่วนกฎหมายที่อยู่ในการกำกับดูแล จะดำเนินการปรับปรุงกฎ ระเบียบ เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดข้อจำกัด ขจัดอุปสรรค และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ อาทิ การปรับปรุงประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการนำเข้าสินค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ สินค้ารถยนต์ ยางรถยนต์ที่ใช้แล้ว และเศษพลาสติก รวมทั้งจะผลักดันการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับควบคุมการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) และสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (DUI) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจในด้านความมั่นคงปลอดภัย เพิ่มความน่าเชื่อถือ และสร้างแต้มต่อทางการค้า

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง