กรมพัฒนาธุรกิจการค้าวิเคราะห์ธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ อะไหล่ และบริการที่เกี่ยวเนื่อง พบ มีแนวโน้มจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ช่วง 4 เดือนปี 66 ตั้งแล้ว 134 ราย เพิ่ม 41.06% ทุนจดทะเบียนเกือบ 200 ล้านบาท เพิ่ม 50.69% เหตุรถจักรยานยนต์มีความคล่องตัว หาที่จอดง่าย ประหยัดน้ำมัน ค่าบำรุงรักษาไม่สูง แปลงเป็นเครื่องมือทำมาหากินได้ง่าย แนะต้องระวัง อย่าขับขี่ประมาท
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทีมวิเคราะห์ธุรกิจของกรมฯ ได้จัดทำบทวิเคราะห์ธุรกิจที่น่าสนใจประจำเดือน เม.ย.2566 พบว่า ธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ อะไหล่ และบริการที่เกี่ยวเนื่อง มีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 194 ราย ทุนจดทะเบียน 330.56 ล้านบาท ปี 2564 จัดตั้ง 183 ราย ลดลง 5.67% ทุน 237.35 ล้านบาท ลดลง 28.20% ปี 2565 จัดตั้ง 283 ราย เพิ่มขึ้น 54.64% ทุน 525.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 121.48% และช่วง 4 เดือน ปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) จัดตั้ง 134 ราย เพิ่มขึ้น 41.06% ทุน 193.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.69%
ทั้งนี้ การจดทะเบียนจัดตั้งของธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ อะไหล่ และบริการที่เกี่ยวข้องที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับยอดการจำหน่ายรถจักรยานยนต์และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยช่วง 3 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) ไทยมียอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 557,843 คัน (ม.ค. 174,980 คัน ก.พ. 179,091 คัน และ มี.ค. 203,772 คัน) ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล จำนวน 122,812 คัน (ม.ค. 35,387 คัน ก.พ. 41,051 คัน และ มี.ค. 46,410 คัน) เมื่อเทียบสัดส่วนจะพบว่ายอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์มีมากกว่ายอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลถึง 435,031 คัน หรือมากกว่าประมาณ 450%
สำหรับปัจจัยหลัก มาจากการที่รถจักรยานยนต์มีความคล่องตัว หาที่จอดง่าย ประหยัดน้ำมัน ค่าบำรุงรักษาไม่สูง แปลงเป็นเครื่องมือทำมาหากินได้ง่าย ที่สำคัญได้รับความนิยมทุกพื้นที่ และรถจักรยานยนต์ยังมีการออกแบบหลากหลายประเภทให้เหมาะกับการใช้งาน เช่น ระยะทาง สภาพจราจร การท่องเที่ยว กีฬา การแข่งขัน และอีกด้านหนึ่ง รถจักรยานยนต์ยังเป็นของเล่นสำหรับกิจกรรมอดิเรก เป็นของสะสม และมีผู้บริโภคบางกลุ่มที่ชื่นชอบตกแต่งรถให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจอะไหล่ตกแต่งรถจักรยานยนต์ ธุรกิจบริการซ่อมบำรุง ได้รับประโยชน์ไปด้วย ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคอาจซื้อรถจักรยานยนต์ผ่านระบบสินเชื่อเช่าซื้อ จึงส่งผลให้ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เติบโตตามยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารถจักรยานยนต์จะเป็นพาหนะที่มีความสะดวกในสภาพการจราจรที่มีการติดขัด และการใช้งานในเมืองมีความสะดวกสบาย แต่รถจักรยานยนต์ก็เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด โดยข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก พบว่า ปี 2565 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 17,347 คน เป็นรถจักรยานยนต์จำนวน 8,751 คน คิดเป็น 50.45% ดังนั้น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องใช้ความระมัดระวังและไม่ทำพฤติกรมเสี่ยง ทั้งการขี่รถเร็ว การขี่รถย้อนศร และการไม่สวมหมวกกันน็อก เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น
ทางด้านผลประกอบการธุรกิจ พบว่า ปี 2562 รายได้รวม 4.35 แสนล้านบาท กำไร 3.70 หมื่นล้านบาท ปี 2563 รายได้รวม 3.98 แสนล้านบาท ลดลง 8.46% กำไร 3.51 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.87% และปี 2564 รายได้รวม 3.73 แสนล้านบาท ลดลง 6.25% กำไร 2.61 หมื่นล้านบาท ลดลง 25.69% ทั้งนี้ แม้ว่าช่วง ปี 2562-2564 ธุรกิจมีแนวโน้มของรายได้รวมและผลกำไรที่ลดลง แต่หากพิจารณาถึงขนาดธุรกิจ (S M และ L) พบว่า ผลประกอบการส่วนใหญ่ มีน้ำหนักอยู่ที่ธุรกิจขนาดใหญ่ (L) โดยสินทรัพย์ของธุรกิจขนาดใหญ่ (L) มีสัดส่วนมากกว่า 70% ของสินทรัพย์ธุรกิจทุกขนาด ดังนั้น เมื่อธุรกิจขนาดใหญ่มีกำไรลดลง จึงส่งผลให้กำไรของธุรกิจในภาพรวมลดลงตามไปด้วย เช่น ปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563 ธุรกิจในภาพรวมมีกำไรลดลงกว่า 25.69% ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจขนาดใหญ่ (L) มีผลกำไรลดลงกว่า 9,600 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็ก (S) ขาดทุนลดลง 55 ล้านบาท และธุรกิจขนาดกลาง (M) มีผลกำไรเพิ่มขึ้น 542 ล้านบาท
ส่วนการลงทุนในธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็นคนไทย มูลค่าการลงทุน 2.16 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 61.91% ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด และมีการลงทุนจากชาวต่างชาติ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น มูลค่า 1.18 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 33.96% จีน มูลค่า 419 ล้านบาท สัดส่วน 1.20% มาเลเซีย มูลค่า 221 ล้านบาท สัดส่วน 0.63% และอื่น ๆ มูลค่า 805 ล้านบาท สัดส่วน 2.30%
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย.2566) มีธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ อะไหล่ และบริการที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวน 3,690 ราย คิดเป็น 0.42% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ (871,041 ราย) และมีมูลค่าทุน 34,963.03 ล้านบาท คิดเป็น 0.16% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ (21.23 ล้านล้านบาท) ส่วนใหญ่ดำเนินกิจการรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 2,506 ราย คิดเป็น 67.91% มูลค่าทุน 31,302.96 ล้านบาท โดยเป็นธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 2,125 ราย ทุน 1.01-5.00 ล้านบาท จำนวน 1,187 ราย และทุนมากกว่า 5 ล้านบาท จำนวน 378 ราย โดยแบ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) จำนวน 3,044 ราย สัดส่วน 82.49% ขนาดกลาง (M) จำนวน 513 ราย สัดส่วน 13.90% และขนาดใหญ่ (L) จำนวน 133 ราย สัดส่วน 3.61%
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง