ไตรมาสแรกปี 66 ไทยส่งออกเกษตรไปคู่ FTA เพิ่ม 3% เกษตรแปรรูป เพิ่ม 11.4%

img

“สินิตย์” เผยยอดส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ไปประเทศคู่เจรจา FTA ของไทยไตรมาสแรก โตต่อเนื่อง สินค้าเกษตร เพิ่ม 3% เกษตรแปรรูป เพิ่ม 11.4% ระบุผลไม้สด ข้าว ไก่สด มันสำปะหลัง อาหารทะเล ไอศกรีม ขยายตัวได้ดีในหลายตลาด แนะใช้ FTA สร้างแต้มต่อ ย้ำเดินหน้าเจรจา FTA เพิ่ม หวังช่วยหนุนการส่งออกในอนาคต
         
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปของไทยไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) จำนวน 18 ประเทศ โดยได้รับรายงานว่า ในช่วงไตรมาสแรกปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกในภาพรวมมีมูลค่า 41,216 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.6% เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกมีการถดถอย ทำให้การส่งออกชะลอตัวเล็กน้อย แต่หากเจาะลึกเฉพาะที่ส่งออกไปยังประเทศคู่ FTA พบว่า ยังขยายตัวได้ดี โดยสินค้าเกษตรส่งออกไปประเทศคู่ FTA มีมูลค่า 4,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3% สัดส่วน 69.7% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด และส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปมูลค่า 4,162 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.4% คิดเป็นสัดส่วน 70% ของการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปทั้งหมด ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรไปกลุ่มประเทศที่ไทยไม่มี FTA ลด 6% และส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปไปกลุ่มประเทศที่ไทยไม่มี FTA เพิ่ม 6%
         
ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ยังมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันจีนได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกเติบโต อีกทั้งยังเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการผลิต และเป็นที่ต้องการของตลาด ผู้ประกอบการควรใช้ประโยชน์จาก FTA ส่งออกอย่างเต็มที่ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนายกระดับสินค้าให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สอดคล้องกับกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างจุดเด่นให้กับสินค้า และแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ



นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่ส่งออกไปกลุ่มประเทศคู่ค้า FTA ขยายตัวได้ดี เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง เพิ่ม 60% ตลาดที่ขยายตัว เช่น จีน อินโดนีเซีย และอินเดีย ข้าว เพิ่ม 30% ตลาดที่ขยายตัว เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 56% ตลาดที่ขยายตัว เช่น จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 2% ตลาดที่ขยายตัว เช่น จีน เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 4% ตลาดที่ขยายตัว เช่น ญี่ปุ่น ชิลี และกัมพูชา ไอศกรีม เพิ่ม29% ตลาดที่ขยายตัว เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 3% ตลาดที่ขยายตัว เช่น จีน และ สปป.ลาว ผักกระป๋องและผักแปรรูป เพิ่ม 20% ตลาดที่ขยายตัว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน

โดยปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตร อันดับที่ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 9 ของโลก และผู้ส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป อันดับที่ 3 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 9 ของโลก
         
“FTA ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยในตลาดโลก โดยปัจจุบัน FTA ที่มีผลใช้บังคับ  ประเทศคู่ค้าได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปส่วนใหญ่ให้กับไทยแล้ว โดยในปีนี้ กรมมีแผนจะเร่งเดินหน้าเจรจา FTA กับคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป (EU) เอฟตา (EFTA) แคนาดา ตุรกี ศรีลังกา และปากีสถาน รวมทั้งจะเปิดเจรจากับคู่ค้าใหม่ ได้แก่ กลุ่มอ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก และกลุ่มประเทศแอฟริกา เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการส่งออกของไทยในอนาคต”นางอรมนกล่าว

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง