​“จุรินทร์”โชว์นโยบาย BCG ของไทย ตั้งเป้าดัน SMEs-Micro SMEs สู่ตลาดโลก

img

“จุรินทร์”โชว์นโยบายผลักดัน BCG ของไทย ในเวทีเสวนานานาชาติ APEC BCG Symposium 2022 ยันมีแผนขับเคลื่อน SMEs และ Micro SMEs ให้พัฒนาภาคการผลิตและภาคบริการโดยใช้ BCG เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีแผนผลักดันเป็นรายกลุ่มสินค้าสู่ตลาดโลก เผยผ่าน 6 เดือน หลังขับเคลื่อนดันมูลค่าโตแล้วกว่า 7 เท่าตัว  

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดงานเสวนานานาชาติ APEC BCG Symposium 2022 ที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า วัตถุประสงค์ของการเสวนาที่กระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย จัดขึ้น เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่อง BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) และต้องการให้เวทีนี้ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติ และประสบการณ์ในการใช้โมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG และแลกเปลี่ยนนโยบายภาครัฐและการส่งเสริมให้ MSMEs ปรับตัวเข้าสู่การใช้ BCG Model ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปกต่อไป
         


สำหรับ BCG Model ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.Bio Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เพื่อนำความหลากหลายทางชีวภาพของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปกและไทยมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ 2.เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของประเทศให้เกิดความคุ้มค่าเกิดของเสียที่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด หรือ Reduce และเพื่อนำของเหลือใช้หรือผลิตผลพลอยได้มาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจหรือ Reuse  และสุดท้าย Recycle นำของใช้แล้วกลับมาผลิตใช้ใหม่เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด และ 3.Green Economy เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลักและเพื่อให้ภาคการผลิตและภาคบริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
         
นายจุรินทร์กล่าวว่า BCG Model ของไทย จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ ทั้งไทย กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเอเปก และโลกในอนาคต ทั้งการสร้างรายได้และกระจายรายได้ และวันนี้มุ่งเน้นให้ SMEs และ Micro SMEs พัฒนาภาคการผลิตและภาคการบริการโดยใช้ BCG Model เป็นด้านหลัก เพื่อให้ภาคการผลิตและบริการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตนเชื่อว่าเป็นเป้าหมายร่วมกันของเขตเศรษฐกิจเอเปกทุกเขต





ทั้งนี้ ประเทศไทยประกาศ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 ม.ค.2021 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นโมเดลทางเศรษฐกิจที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับ SDGs Goal ของสหประชาชาติ 17 ข้อ (Sustainable Development Goals–SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน) และหลายประเทศก็กำลังเดินหน้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ออสเตรเลีย มีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในรัฐควีนส์แลนด์ สิงคโปร์ มีนโยบาย Zero Waste Master Plan ที่มุ่งไปสู่การปลอดขยะของประเทศ และจีนมีแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 14 ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย และประเทศแคนาดาใช้นโยบายไบโอดิจิทัล คอนเวอร์เจนซ์ (Bio-Digital Convergence) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบผสมผสานระหว่างระบบสิ่งมีชีวิตกับเทคโนโลยีดิจิทัล
         
โดยตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของไทย หลังจากประกาศเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ที่ตนรับผิดชอบได้มีการแยกหมวดการสนับสนุนส่งเสริมสินค้าและบริการเป็นหมวด BCG โดยเฉพาะ ทั้งการผลิตสินค้าแห่งอนาคต อาหารฟังก์ชัน อาหารทางการแพทย์ อาหารออร์แกนิก สินค้าไลฟ์สไตล์ และสินค้าวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ทั้งหมดนี้กำลังขับเคลื่อนโดยใช้ BCG Model และแยกตัวเลขให้เห็นชัด เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจใน 6 เดือนตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว ถึงไตรมาสแรกปีนี้ มีมูลค่าการค้าในหมวดนี้เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าตัว
         
“หวังว่าการเสวนานานาชาติ APEC BCG Symposium 2022 จะทำให้สมาชิกเอเปกแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หาหนทางใหม่ในการขับเคลื่อนร่วมกัน และเพื่อให้การประชุมเอเปกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ Open Connect Balance บรรลุตามวัตถุประสงค์ต่อไป”นายจุรินทร์กล่าว
         
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเปิดงานเสาวนา นายจุรินทร์ ได้เยี่ยมชมบูธผู้ประกอบการไทย ประกอบด้วย SCG , PTTGC , Dow , CPF และ ThaiBev เป็นต้น ที่นำผลิตภัณฑ์สินค้าเกี่ยวกับ BCG มาจัดแสดง และเยี่ยมชม นิทรรศการ BCG ที่นำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลุ่ม BCG Model มาจัดแสดงจากหลายประเทศที่เป็นสมาชิกการประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปก 21 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ จีนไต้หวัน ญี่ปุ่น จีนฮ่องกง และจีน เป็นต้น





ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง