สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผย “เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง” กำลังมาแรง หลังความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นตามประชากรโลก ชี้หากต้องผลิตเนื้อสัตว์ให้เพียงพอ ก็เสี่ยงทำลายสิ่งแวดล้อมโลก ทำให้หลายประเทศหันมาเร่งพัฒนา ล่าสุดสิงคโปร์ไฟเขียวให้จำหน่ายเนื้อไก่เพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ส่วนไทยมี “ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป” กำลังจับมือจุฬาฯ พัฒนาเนื้อหมูเพาะเลี้ยง แนะรัฐหนุนผู้ประกอบการไทยเต็มที่ คาดอนาคตเติบโตเพิ่มขึ้นแน่
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาแนวโน้มการเกิดและการพัฒนาสินค้ารายการใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการให้หาโอกาสให้กับผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทย โดยล่าสุดพบว่าสินค้า “เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง” หรือ Cultured Meat เป็นสินค้าใหม่ที่มีการเติบโตสูง เพราะปัจจุบันนี้ ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารเพื่อป้อนความต้องการของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารจากเนื้อสัตว์ที่การผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงได้มีการเร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง เพื่อตอบสนองความต้องการเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ AT Kearney บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการระดับโลกของสหรัฐฯ ระบุว่า ประชากรโลกจะเพิ่มจาก 7,600 ล้านคน ในปี 2018 เป็น 10,000 ล้านคน ในปี 2050 ส่งผลให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 56 และข้อมูล World Resources Institute (WRI) รายงานว่าความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ (ประเภทสัตว์เคี้ยวเอื้อง อาทิ วัว แกะ และแพะ) จะเติบโตสูงถึงร้อยละ 88 ระหว่างปี 2010 ถึง 2050 และ AT Kearney ยังชี้ให้เห็นอีกว่า หากต้องผลิตเนื้อสัตว์ให้เพียงพอกับความต้องการบริโภค จะต้องเพิ่มผลผลิตภาคเกษตรเพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ต้องใช้ทุ่งหญ้าที่มีพื้นที่ขนาดเท่าประเทศอินเดีย และใช้เนื้อที่ 2 ใน 3 ของพื้นที่เกษตรกรรมโลกเพื่อทำปศุสัตว์ ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และสร้างก๊าซเรือนกระจก (ก๊าซมีเทน คาร์บอนไดออกไซด์ และไนตรัสออกไซด์) ประมาณร้อยละ 50 ของก๊าซที่เกิดจากการผลิตภาคเกษตรกรรม
“จากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ ความท้าทายในการผลิตเนื้อสัตว์ และปัญหาการขาดแคลนเนื้อสัตว์ในอนาคต เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจทั่วโลกให้ความสนใจ และมีความพยายามที่จะคิดค้นนวัตกรรมด้านอาหารต่าง ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและชะลอปัญหาดังกล่าว เช่น การคิดค้นเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง และเนื้อสัตว์เทียมที่ผลิตจากพืช หรือ Plant-based Meat ซึ่งปัจจุบัน มีหลายประเทศได้ให้ความสำคัญในการวิจัยพัฒนาและเริ่มผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงออกมาแล้ว”นายภูสิตกล่าว
นายภูสิต กล่าวว่า เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง เป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี 2013 ในรูปแบบเบอร์เกอร์เนื้อ ที่ผลิตโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Maastricht ประเทศเนเธอร์แลนด์ และต่อมาได้มีบริษัทสตาร์ทอัพด้านอาหารหลายรายที่พยายามคิดค้นการผลิตให้ต้นทุนต่ำลง นอกจากนี้ ยังมีหลายบริษัทกำลังยื่นจดสิทธิบัตรในเรื่องที่เกี่ยวข้องนี้ และคาดการณ์ว่าตลาด Cultured Meat จะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จากในปี 2020 ที่มีมูลค่าตลาด 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปเป็น 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2026
ส่วนการพัฒนาของไทย พบว่า บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์ Veterinary Stem Cell and Bioengineering Innovation Center (VSCBIC) คณะสัตวแพทยศาสตร์ เพื่อพัฒนาเนื้อหมูรูปแบบ Cultured Meat แต่ยังอยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนาเพื่อให้ได้เนื้อหมูที่มีรสสัมผัส คุณค่าทางอาหาร และต้นทุนที่ใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมการผลิตในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ขณะที่เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็มีความพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่สนใจในธุรกิจ Cultured Meat และต้องการต่อยอดการพัฒนาสู่การค้าเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม แม้อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์เทียมทั้งของโลกและของไทย ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา แต่เชื่อว่ามูลค่าทางการตลาดของสินค้าดังกล่าวในโลก มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งภาครัฐ ควรจะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารให้กับผู้ประกอบการไทย ส่งเสริมให้มีการจดสิทธิบัตร เพื่อให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ และจะต้องช่วยในการศึกษาความต้องการของตลาด เพื่อใช้เป็นข้อมูลให้กับผู้ประกอบการผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการ ทั้งในด้านรสชาติ เนื้อสัมผัส คุณค่าทางโภชนาการ ราคา และกำลังซื้อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจและยอมรับจากผู้บริโภคเป็นวงกว้าง
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง