​ส่งออกก.ค.64 ยังโตแรง บวก 20.27% ส่วนยอดรวม 7 เดือนโตเกินเป้าแล้ว 4 เท่า

img

ส่งออกก.ค.64 ยังโตแรง ทำได้มูลค่า 22,650.83 ล้านเหรียญสหรัฐ บวกตัวเลข 2 หลัก 20.27% ได้รับผลดีจากการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และตลาดส่งออก ส่งผลยอดรวม 7 เดือน มูลค่า 154,985.48 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.20% ขยายตัวเกินเป้าแล้ว 4 เท่า  
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนก.ค.2564 มีมูลค่า 22,650.83 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.27% ยังเป็นการขยายตัวด้วยตัวเลข 2 หลัก และถ้าไม่รวมสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ จะขยายตัวถึง 25.38% และคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 708,651.66 ล้านบาท และส่งออกรวม 7 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 154,985.48 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.20% หรือคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 4,726,197.35 ล้านบาท 
         
ทั้งนี้ การนำเข้ามีมูลค่า 22,467.37 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 45.94% และยอดรวม 7 เดือน มีมูลค่า 152,362.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.73% เกินดุลการค้า 2,622.62 ล้านเหรียญสหรัฐ
         
สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกขยายตัว มาจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเดือนก.ค.2564 เพิ่ม 24.3% เป็นบวกต่อเนื่อง 8 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดีประกอบด้วย ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 80.2% ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง และยังขยายตัวดีในตลาดสำคัญ เกือบทุกตลาด เช่น จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซียและเนเธอร์แลนด์ ยางพารา เพิ่ม 121.2% ขยายตัว 10 เดือนต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 62% ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่องในตลาดสำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน สหรัฐฯ อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 17.3% ขยายตัว 23 เดือนต่อเนื่อง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เพิ่ม 51.7% ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เพิ่ม 8.4% ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง
         
สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 18% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น รถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เพิ่ม 39.2% ขยายตัว 9 เดือนติดต่อกัน ผลิตภัณฑ์ยางพารา เพิ่ม 16% ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน สินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน เช่น เม็ดพลาสติก ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ เพิ่ม 59% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เพิ่ม 43.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เพิ่ม 19.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน เหล็กเพิ่ม 59.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน
         


ส่วนตลาด ขยายตัวดีเกือบทุกตลาดสำคัญ ยกเว้นตลาดเดียว คือ ออสเตรเลีย เพราะตัวเลขติดลบ จากการส่งออกอัญมณี เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้าได้ลดลง แต่รถยนต์ยังเพิ่ม 44.8% ยางพารา เพิ่ม 26.8% โดยตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 22.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน จีน เพิ่ม 41% ต่อเนื่อง 8 เดือน ญี่ปุ่น เพิ่ม 23.3% ต่อเนื่อง 9 เดือน อาเซียน เพิ่ม 26.9% ต่อเนื่อง 3 เดือน ยุโรป เพิ่ม 20.9% ต่อเนื่อง 6 เดือน อินเดีย ขอขีดเส้นใต้ ขยายตัวดีมาก เป็นอนาคตของการส่งออกไทย เพิ่ม 75.3% ต่อเนื่อง 6 เดือน และตลาดใหม่ เช่น ลาตินอเมริกา เพิ่ม93.5% ต่อเนื่อง 6 เดือน รัสเซียและ CIS เพิ่ม 53% ต่อเนื่อง 4 เดือน ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีอนาคตของไทย
         
นายจุรินทร์กล่าวว่า ปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ตัวเลขเดือนก.ค.ยังคงเป็นบวกได้ ได้รับผลดีจากแผนการทำงานของ กรอ.พาณิชย์ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนที่จับมือร่วมกันเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ การฟื้นตัวของคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป รวมทั้งจีน ตัวเลข PMI หรือ Global Manufacturing ซึ่งเรียกว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของโลก มีตัวเลขที่เกินกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยก.ค.2564 อยู่ที่ 55.4 ทำให้โอกาสการซื้อขายกับสินค้ากับหลายประเทศในโลกเพิ่มขึ้น เงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง ทำให้ไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลก และราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับสูง เมื่อน้ำมันดิบราคาสูง ทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ส่งออกได้ราคาดีขึ้น
         
ส่วนแนวโน้มการส่งออก เห็นว่า การระบาดของโควิด-19 อาจจะมีผลกระทบได้ โดยเฉพาะเดือนส.ค.-ก.ย.2564 เป็นต้นไป ที่เริ่มเห็นแล้ว เช่น ผลไม้ หรือโรงงานผลิตเพื่อส่งออกบางแห่ง ที่ต้องปิดตัว ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง และสถานการณ์โควิด-19 ในเพื่อนบ้าน ที่ไทยต้องส่งออกต่อเนื่อง เริ่มมีการติดขัด เช่น การส่งออกผลไม้จากไทย ผ่านสปป.ลาว ไปเวียดนาม และเข้าจีน ก็มีปัญหาบางช่วงเวลา ต้องไปแก้หน้างานหลายครั้ง หรือมาเลเซีย ก็อยู่ในสถานการณ์เคร่งครัด ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำยางดิบ ทำให้กระทบราคา เพราะมาเลเซียเป็นตลาดใหญ่ แต่ยางก้อนถ้วยยังดี ดีกว่าราคาประกันรายได้ ส่วนเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ เข้าสู่ภาวะสมดุลแล้ว มีตู้นำเข้าสูงกว่าส่งออก 1.2 แสนบีทียู แต่มีบางช่วงที่ไม่สมดุล ต้องการตู้มากแต่มีเข้าน้อย โดยปัญหาใหญ่ คือ ค่าระวางที่แพงมาก แพงทั้งโลก และสินค้าบางตัวกระทบ เช่น ข้าว ค่าระวางแพงกว่าราคาข้าวในตู้ ทำให้ข้าวไทยสู่คู่แข่งไม่ได้ แต่ก็เริ่มดีขึ้น จากบาทอ่อน และการรวมตัวกันเช่าพื้นที่เรือ ซึ่งไม่ทำเฉพาะข้าว แต่รวมถึงสินค้าของ SMEs อื่น ๆ ด้วย
         
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 6 เดือนหลัง ตั้งแต่ก.ค.2564 มีกิจกรรมที่จะดำเนินการไม่น้อยกว่า 130 กิจกรรม ทั้งการส่งเสริมการส่งออกในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้ปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 แล้ว โดยเป้าทั้งปีตั้งไว้ที่ 4% จะพยายามทำให้เกิน เพราะวันนี้ทำได้ 16.2% ถือว่าทำได้เกินเป้าไปแล้ว 4 เท่า และจะร่วมมือกับภาคเอกชนเดินหน้าและทำให้ดีที่สุด ไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง