“จุรินทร์”ประชุม กรอ.พาณิชย์ ประเมินผลการแก้ไขปัญหาการส่งออก เผยเรื่องขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ยุติแล้ว มีเพียงพอใช้ มอบปลัดพาณิชย์ถกต่อ หากมาตรการจูงใจให้เรือใหญ่เข้ามาอีก และหาทางลดค่าใช้จ่ายค่าระวาง แนะ SMEs ส่งออก รวมตัวทำสัญญาลดค่าระวางและให้มีตู้แน่นอน รับถก EXIM Bank ผ่อนปรนเงื่อนไขเงินกู้ เร่งเจรจาเปิดด่านเพิ่ม เป้า 11 แห่ง แย้ม FTA ใหม่ไทย-อียูและเอฟตา เข้าครม. ไตรมาส 3 พร้อมเร่งแก้ปัญหาแรงงาน มาตรฐานไม้ยางพารา
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า ได้ติดตามผลการแก้ไขปัญหาการส่งออกในประเด็นต่าง ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน โดยในเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ได้เข้าสู่ภาวะสมดุลแล้ว มีตัวเลขการนำเข้าตู้ตั้งแต่ม.ค.-พ.ค. 2.2 ล้านทีอียู (ตู้สินค้าที่มีขนาด 20 ฟุต) และส่งออก 2 ล้านทีอียู ยังเหลือตู้ประมาณ 2 แสนทีอียู ที่สามารถใช้ได้ แต่ในทางปฏิบัติต้องรอสินค้าออก ทำให้ตู้ไม่ว่าง อาจมีตู้ขาดในบางช่วงเวลา โดยในระยะยาว เห็นควรเพิ่มมาตรการจูงใจให้เรือขนาดใหญ่เข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังมากขึ้น เช่น เปิดโอกาสให้ถ่ายลำระหว่างทางไปยังประเทศอื่นได้ ซึ่งได้มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงคมนาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน หารือร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรการ ส่วนค่าระวางเรือ ภาคเอกชนยอมรับว่าราคาเป็นไปตามกลไกตลาด แต่อยากให้มีการลดค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งได้มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์หารือกับภาคเอกชนต่อไปว่ามีส่วนใดสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้
ส่วนการสนับสนุน SMEs ส่งออก ซึ่งมีอยู่ 30,000 รายทั่วประเทศ ขอให้บางส่วนรวมตัวกันเพื่อทำสัญญาล่วงหน้ากับสายการเดินเรือ เพื่อมีหลักประกันในเรื่องค่าระวางที่จะไม่แพง และจะได้มีตู้สินค้าให้ส่งออกแน่นอน ขณะที่การเข้าถึงแหล่งเงินกู้เงื่อนไขพิเศษ กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดโครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก เริ่ม 7 ก.ค.-7 ก.ย.2564 มีวงเงิน 2,500 ล้านบาท ซึ่งภาคเอกชนขอให้เพิ่มเงื่อนไข ใช้สต๊อกสินค้าเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และขยายวงเงินสำหรับผู้ใช้วงเงินเต็มแล้ว โดยเอาสัญญาสั่งซื้อมาค้ำประกัน ได้มอบให้กรมการค้าต่าประเทศรับไปเจรจากับ EXIM Bank แล้ว
นายจุรินทร์กล่าวว่า ในด้านการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน ได้เร่งรัดการเปิดด่าน โดยปัจจุบันมีด่านรอบประเทศทั้งหมด 97 ด่าน เปิดให้ส่งสินค้าเข้าออกได้ 46 ด่าน ภาคเอกชนอยากเห็นการเปิดเพิ่มอีก 11 ด่าน โดยล่าสุดด่านปากแซง อ.นาตาล หลังจากที่ได้ไปประชุมเร่งรัดด้วยตนเองแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ประชุมร่วมกับเจ้าแขวงสะหวันนะเขตลงนาม MOU ร่วมกันว่าจะทำการเปิดด่านโดยเร็ว อนุญาตเฉพาะสินค้าข้ามแดน และเร่งกำหนดรายการสินค้าและปริมาณสินค้าเข้าส่งออกระหว่างชายแดน จากนั้นจะนำสู่ภาคปฏิบัติต่อไป ส่วนด่านที่เหลือได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อเร่งรัดการเปิดด่านต่อไป
ทางด้านการเปิดเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับใหม่ กับสหภาพยุโรป (อียู) และสมาคมการค้าเสรียุโรป (เอฟตา) คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ตามที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้แจ้งไว้ ส่วน FTA อาเซียน-แคนาดา จะทำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.ในช่วงปลายเดือนส.ค.2564
สำหรับเรื่องแรงงานต่างด้าวที่ขาดแคลนสำหรับภาคการผลิต ทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ได้รับไปรายงานให้ ครม. รับทราบปัญหา และดำเนินการแก้ไขต่อไป รวมทั้งการใช้แรงงานข้ามเขตในบางกรณี เช่น ช่วยเก็บผลไม้หรือตามความจำเป็น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจอนุมัติในแต่ละจังหวัดอยู่แล้ว และเรื่องอุตสาหกรรมไม้ยางพารา ซึ่งภาคเอกชนสนับสนุนนโยบายของการยางแห่งประเทศไทย ที่สนับสนุนให้มีการโค่นยางให้ได้ตามเป้า 4 แสนไร่ต่อปี เพื่อปลูกแทน โดยปี 2563 สามารถทำได้ 3.4 แสนไร่ ส่วนปี 2564 จะเร่งรัดดำเนินการต่อไป ซึ่งตัวเลขยังไม่มาก เพราะขาดแคลนแรงงานในการดำเนินการ ส่วนการรับรองมาตรฐานไม้ยางพารา เพื่อการส่งออกมี 2 มาตรฐาน มาตรฐานสากลทั่วไป ที่รู้จัก คือ FSC กับของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่กลายเป็นมาตรฐานสากลแล้ว คือ TFCC โดย FSC ต้องให้ตัวแทนจากต่างประเทศมาให้การรับรองแต่ละกรณี แต่ต่อไปนี้เห็นชอบด้วยกันว่าเป็นไปได้หรือไม่ ให้มาตั้งสำนักงานในไทย ส.อ.ท. กับ กยท. รับเรื่องไปประสานงาน เพื่อให้เกิดความสะดวกในการส่งไม้ยางส่งออกไปยังต่างประเทศแล้ว
ทั้งนี้ ต่อไปจะมีการจัดประชุม กรอ.พาณิชย์ เป็นระยะระยะ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสถานการณ์เศษฐกิจไทย-โลก ที่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยให้ได้เร็วที่สุด เพื่อทำตัวเลขส่งออกไปต่างประเทศให้ได้มากที่สุด และได้เห็นตรงกันว่า การส่งออกเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งล่าสุดเดือนพ.ค.การส่งออกขยายตัวถึง 41.59% และคาดว่าเดือนมิ.ย.2564 จะยังขยายตัวเป็นตัวเลข 2 หลัก เป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักระหว่างกระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง