กรมการค้าต่างประเทศชี้แจงการมอบสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จัดหาข้าวและส่งมอบข้าวภายใต้สัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นวิธีการที่ทำมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ปัจจุบัน การดำเนินการมีขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ย้ำการมอบสิทธิ์ให้สมาคมฯ เหตุต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และรับความเสี่ยงได้ ด้านสมาคมฯ เผยการเก็บค่าบริหารจัดการ เป็นเรื่องที่ทำมาตลอด แล้วแต่ว่าส่งให้ประเทศไหน และเก็บไม่เท่ากัน
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงวิธีการจัดหาข้าวและส่งมอบภายใต้สัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ว่า การที่รัฐบาลมอบสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยดำเนินการ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ และเป็นสิ่งที่ได้ดำเนินการมาช้านานหลายยุคหลายสมัยในหลายรัฐบาลที่มีการขายข้าว G to G มา 20 กว่าปีแล้ว และปัจจุบันยังได้ดำเนินการตาม “แนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ” ที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2562 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบแนวทางปฏิบัติดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2563 อีกทั้งแนวทางปฏิบัติดังกล่าวยังมีที่มาตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอเรื่อง “มาตรการป้องกันการทุจริต กรณีการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ จากโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ” และกรมฯ ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวทางปฏิบัติดังกล่าวสำหรับใช้เป็นแนวทางในการขายข้าวแบบ G to G
ทั้งนี้ มติ นบข. ยังได้มอบหมายให้กรมฯ ร่วมมือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ปรับปรุงหรือจัดหาข้าวส่งมอบให้แก่รัฐบาลประเทศผู้ซื้อตามสัญญา G to G โดยให้กรมฯ ทำข้อตกลงความร่วมมือกับสมาคมฯ ตามแบบข้อตกลงที่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว
ส่วนเหตุผลที่มอบสมาคมฯ เนื่องจากเงื่อนไขการส่งมอบข้าวในแต่ละสัญญา มีรายละเอียดในการปฏิบัติที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเฉพาะของผู้ที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญในการส่งข้าวไปต่างประเทศ และสมาคมฯ เป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักในการส่งออกข้าวโดยตรง และมีสมาชิกที่มีความพร้อมในการส่งออกข้าว รวมทั้งมีศักยภาพในการรับประกันความเสี่ยงในการส่งมอบข้าวภายใต้สัญญา G to G เช่น การเปลี่ยนแปลงของราคาข้าวในตลาด ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน สภาพอากาศที่ทำให้เกิดปัญหาส่งมอบข้าวล่าช้า ค่าเสียเวลาเรือและค่าปรับที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น
"รัฐบาลในหลายยุคหลายสมัย ได้มอบกรมฯ ร่วมมือกับสมาคมฯ จัดหาและส่งมอบข้าวแบบ G to G ให้ China National Cereals, Oil and Foodstuff Import and Export Corporation (COFCO) รัฐบาลจีน , The National Food Authority (NFA) รัฐบาลฟิลิปปินส์ และ Padiberas Nasional Berhad (BERNAS) รัฐบาลมาเลเซีย เป็นต้น เพราะการร่วมมือกับสมาคมฯ เนื่องจากสมาคมฯ มีความคล่องตัวในการดำเนินการและการบริหารจัดการ หากรัฐมาดำเนินการจัดหาและส่งมอบข้าวเอง จะใช้เวลาในการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน อาจทำให้การส่งมอบล่าช้า ซึ่งคำสั่งซื้อข้าว G to G ส่วนใหญ่ต้องการการส่งมอบโดยเร็ว และที่ผ่านมา สมาคมฯ สามารถส่งมอบข้าวให้แก่รัฐบาลผู้ซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น ทันตามกำหนดเวลา สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้ซื้อ และรักษาชื่อเสียงของประเทศเป็นสำคัญ"นายกีรติกล่าว
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงการจัดเก็บค่าบริหารจัดการการส่งมอบข้าวแบบ G to G จากสมาชิกที่ได้รับการจัดสรรว่า สมาคมฯ ดำเนินการลักษณะนี้มาโดยตลอด เนื่องจากการส่งมอบข้าวแบบ G to G มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเกิดขึ้น ทั้งการใช้บุคลากรในการดูแลติดตาม ประสานงาน และจัดเตรียมเอกสารหลักฐานการส่งออก รวมทั้งการทำธุรกรรมต่างๆ และยังมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการส่งมอบ เพื่อให้การส่งมอบข้าวในนามรัฐบาลไทยเป็นไปอย่างเรียบร้อย
ทั้งนี้ การจัดเก็บค่าบริหารจัดการในแต่ละครั้งที่มีการส่งมอบข้าวแบบ G to G สมาคมฯ จะพิจารณาจากความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และปริมาณ ซึ่งไม่ได้ใช้อัตราเดียวกันทุกครั้ง เช่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย สมาคมฯ จัดเก็บอัตราตันละ 30 บาท สำหรับการส่งมอบ COFCO ในครั้งนี้ ซึ่งมีจำนวนเพียง 20,000 ตัน สมาคมฯ จำเป็นต้องเก็บค่าบริหารจัดการเพิ่มขึ้นอยู่ที่อัตราตันละ 150 บาท เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งค่าบริหารจัดการที่คงเหลือสมาคมฯ ได้นำไปใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีที่กรมการค้าต่างประเทศได้โอนการส่งมอบข้าว G to G ปริมาณ 20,000 ตัน ให้กับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยว่าเป็นการให้ผลประโยชน์ของประเทศไทยให้แก่สมาคมฯ โดยไม่มีการประมูลหรือไม่ และมีการระบุราคาขายที่ตันละ 520 เหรียญสหรัฐ แต่ราคาตลาดอยู่ที่ 480 เหรียญสหรัฐ ทำให้มีส่วนต่าง รวมทั้งยังมีการเรียกเก็บค่าบริหารจัดการตันละ 150 บาท
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง