​ราคาพลังงานพุ่ง เลิกลดค่าไฟฟ้า-ประปา ดันเงินเฟ้อเม.ย.พุ่ง 3.41% สูงสุด 8 ปี 4 เดือน

img

“พาณิชย์”เผยเงินเฟ้อเดือนเม.ย.พุ่ง 3.41% กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 14 เดือน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ปี 4 เดือน เหตุราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและฐานปีที่แล้วต่ำ มาตรการลดค่าไฟฟ้า ประปาสิ้นสุด ทำราคาขึ้น และอาหารสดหลายตัวสูงขึ้น ทั้งสุกร ต้นหอม คาดแนวโน้มพ.ค.ขึ้นอีก เหตุน้ำมัน อาหารสดยังสูง แต่ถ้ารัฐมีมาตรการลดค่าครองชีพ ก็จะไม่ขึ้นมาก
         
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ของไทยเดือนเม.ย.2564 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 100.48 เพิ่มขึ้น 1.38% เมื่อเทียบกับมี.ค.2564 และ เพิ่มขึ้น 3.41% เทียบกับเม.ย.2563 กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้งในรอบ 14 เดือน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ปี 4 เดือน ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 0.43% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 100.56 เพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.2564 และเพิ่มขึ้น 0.30% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.2563 และเฉลี่ย 3 เดือนเพิ่มขึ้น 0.16%   
         
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อกลับเป็นขยายตัวสูงขึ้น มาจากการสูงขึ้นของราคาพลังงาน 36.38% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นสูงถึง 38.30% จากฐานเม.ย.2563 ที่อยู่ในระดับต่ำ และยังได้รับผลจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ในส่วนของค่าไฟฟ้าและน้ำประปาได้สิ้นสุดลง ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่กลุ่มอาหารสดหลายรายการราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น เนื้อสุกร และผักสด แต่สินค้ากลุ่มอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
         


สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าในเดือนเม.ย.2564 มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น 224 รายการ เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมัน เนื้อสุกร และต้นหอม เป็นต้น ไม่เปลี่ยนแปลง 66 รายการ และลดลง 140 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ หัวหอมแดง กระเทียม มะเขือ มะม่วง เงาะ และน้ำดื่ม เป็นต้น
         
นายวิชานันกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.2564 จะยังคงขยายตัวสูงขึ้น และน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนเม.ย.2564 โดยมีปัจจัยจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ฐานราคาพลังงานปีที่แล้วยังต่ำมาก และไม่มีสัญญาณว่าราคาน้ำมันจะลดลง ส่วนกลุ่มอาหารสด ไตรมาส 2 จะยังสูงอยู่ ต้องหลังเดือนส.ค.2564 เป็นต้นไปถึงจะลดลง จึงยังเป็นปัจจัยกดดันเงินเฟ้อ และหากไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพอื่นเพิ่มเติมจากรัฐ ก็จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อเพิ่ม แต่ถ้ามี เช่น ลดค่าไฟฟ้า ก็จะช่วยให้ค่าครองชีพลดลง และเงินเฟ้อลดลงด้วย
         
ทั้งนี้ สนค. ยังคงคาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2564 จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.7–1.7% มีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ภายใต้สมมติฐาน อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ 2.5-3.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 29-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนตัวเลขเป้าหมายอีกครั้ง

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง